วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

BREXIT (British Exit)



ความจริงแล้วทีแรกผมคิดว่าจะไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเพราะมีผู้เขียนถึงจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราถือว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนไม่มากก็น้อยรวมทั้งเพื่อเป็นการบันทึกไว้อ้างอิงในอนาคตและจะเพิ่มความคิดเห็นลงไปบ้าง เลยคิดว่าเราคุยกันสักหน่อยน่าจะเป็นการดี โดยพื้นฐานแล้วเรื่อง Britian Exit หรือรวมเป็นคำสั้นว่า BREXIT นี้เป็นเรื่องของประเทศอังกฤษซึ่งมีการทำประชามติเพื่อดูว่าประชาชนต้องการที่จะออกหรือจะอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปต่อไปหรือไม่

อาจจะมีคำถามว่าอยู่ที่นี่แล้วทำไมถึงมาพูดเรื่องการออกจากสารภาพยุโรปของประเทศอังกฤษก็ในเมื่อก่อนที่จะเข้าร่วมไม่ได้คิดให้ดีหรอกหรือ จริงๆ เวลานั้นก็คงคิดมาครั้งหนึ่งแล้วล่ะครับแต่ว่าพอเวลาผ่านไปก็มีปัญหาอื่นๆตามมาเยอะเช่น
  1. บางประเทศในยุโรปมีปัญหาหนี้สินรุงรังซึ่งกระทบต่อสมาชิกทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า คนอังกฤษบางส่วนไม่อยากแบกปัญหานี้กับประเทศอื่นที่มีปัญหาไปด้วย 
  2. การอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปหรือ EU ทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนไปมาเพื่อทำงานต่างถิ่นได้ง่ายขึ้น คนอังกฤษบางกลุ่มก็ต่อต้านการไหลเข้ามาทำงานของคนต่างชาติเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาผู้อพยพที่ไหลเข้ามาในกลุ่ม EU อีกด้วย 
  3. มีกลุ่มคนที่อยากให้อังกฤษมีเสรีในการจัดทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ต้องไปขออนุญาตกลุ่ม EU ทุกครั้งซึ่งทำให้ไม่คล่องตัวหรือไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการ

ผลการทำประชามติ


หลังจากที่มีการทำประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของอังกฤษเล็กน้อยต้องการที่จะออกจากสหภาพยุโรป (ออก 52% - อยู่ต่อ 48%) โดยถ้าดูตามภูมิศาสตร์แล้ว ประชาชนในสกอตแลนด์และกรุงลอนดอนเลือกที่จะคงอยู่กับสหภาพยุโรปในขณะที่ประชาชนที่อาศัยบริเวณรอบนอกเมืองใหญ่และบริเวณอื่นเลือกลงคะแนนเสียงที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามการตัดสินใจนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดเพราะว่าจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก่อนอีกครั้งหนึ่ง และกว่าจะดำเนินการออกได้จริงคงใช้เวลากว่าสองปี สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีก็คือนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่รณรงค์ให้อังกฤษยังคงอยู่กับสหภาพยุโรป (David Cameron) ประกาศลาออกทันทีหลังจากที่ผลประชามติเป็นตรงกันข้ามกับนโยบายที่ตัวเองสนับสนุน เมื่อผลประชามติออกมาดังนี้ก็ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งกันระหว่างผู้คนในอังกฤษที่บางส่วนก็ยังอยากที่จะอยู่กับสหภาพยุโรปในขณะที่บางส่วนก็ต้องการที่จะออกจากสารภาพยุโรป พูดไปพูดมาก็ดูเหมือนว่าบางแคว้นของสหราชอาณาจักรทำท่าทางอยากจะขอแยกตัวออกจากกัน แต่เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่พูดกันโดยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

แต่สิ่งที่อาจจะตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือเมื่ออังกฤษคิดจะออกจากสหภาพยุโรปก็มีคำถามว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปเองที่มีแนวโน้มหรือเริ่มมีความคิดอยากออกอยู่แล้ว (เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์) จะดำเนินคล้อยตามทำประชามติแยกตัวออกไปหรือไม่เป็นต้นก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป

ผลด้านการค้า


ในความเป็นจริงแล้วการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษก็คงไม่กระทบกับประเทศไทยมากนักเนื่องจากว่าเราไม่ได้มีการค้าขายโดยตรงกับอังกฤษเป็นปริมาณที่มากมายนัก (ประมาณ 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเพียง 1.5% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) โดยถ้าเกิดการแยกตัวจริงเราก็จะต้องทำข้อตกลงเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) กับอังกฤษเป็นการเฉพาะแยกจากสหภาพยุโรป สินค้าของไทยไปยังอังกฤษส่วนมากเป็น เนื้อไก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (บริษัทเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบ ต้องคอยจับตา) และถ้าปัญหาลุกลามไปถึงกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปแยกตัวออกจากกันถึงตรงนั้นการค้าที่ประเทศไทยมีกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็คงส่งผลทางที่ไม่ดีแน่นอน แต่ก็คงเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกลความเป็นจริงและเวลาในปัจจุบันค่อนข้างมากดังนั้นคงไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะครับ

ผลด้านการลงทุน


ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศอังกฤษกำลังนับคะแนนประชามติกันอยู่ และมีแนวโน้มว่าจำนวนประชาชนที่ต้องการที่จะออกจากสหภาพยุโรปนั้นมีจำนวนมากกว่าส่วนที่ต้องการจะอยู่ต่อ ดัชนีหุ้นไทย จึงแสดงอาการตกใจไปด้วยโดยการลดลงจากดัชนีที่ปิดในวันพฤหัสบดีก่อนหน้าที่ 1436.40 จุด ลงไปที่จุดต่ำสุดคือ 1393.83 จุดหรือ - 42.57 จุด ก่อนที่จะขึ้นมาปิดการซื้อขายด้วยดัชนี 1413.19 จุด หรือลดต่ำลง - 23.21 จุด เรียกได้ว่าวันนั้นหุ้นแดงทั้งกระดานก็คงจะไม่ผิดนัก

อย่างไรก็ตามเพียงสองสามวันให้หลังดัชนีก็สามารถปรับตัวพุ่งทะยานขึ้นมาและมีเสถียรภาพดีขึ้นได้หลังจากที่พิจารณาได้แล้วว่าคงไม่ได้มีผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก ถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกก็เริ่มปรับตัวกับขึ้นมาหลังจากทราบผลประชามติในสองสามวันให้หลังเช่นกัน (วันที่รู้ผลประชามติก็พากันร่วงลงไปพร้อมกับเราด้วย)

ด้านพื้นฐานเศรษฐกิจ


คราวนี้เราหันกลับมาดูผลทางด้านพื้นฐานเศรษฐกิจกันบ้างการออกจากกลุ่มยุโรปของสหภาพของประเทศอังกฤษนั้นถ้าเกิดขึ้นจริงก็อาจจะมีผลทำให้เงินปอนด์ของอังกฤษมีค่าตกลงเล็กน้อย นอกจากนั้นแล้วก็คงไม่มีผลอะไรมากมายนักเนื่องจากว่ากลุ่มประเทศยุโรปคงจะต้องร่วมมือและค่อยค่อยปรับตัวเพื่อให้ทุกประเทศสามารถดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและการค้าด้วยกันต่อไปได้ ดังจะเห็นว่าคราวที่ประเทศกรีซออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปนั้นในช่วงแรกก็มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดผลเสียหายกระทบมากมาย แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีความเสียหายในวงกว้างให้เราเห็นชัดเจนมากนัก (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหาใดๆ นะครับ)

ในบางแง่มุมการอ่อนค่าของเงินปอนด์หรือเงินสกุลยูโรก็อาจจะเป็นผลดีกับบริษัทไทยบางบริษัทซึ่งมีหนี้สินในตระกูลเงินยูโรก็ได้ หมายความว่าเราก็ใช้เงินไทยจำนวนน้อยลงไปใช้หนี้ ถ้าบริษัทเหล่านั้นมีรายได้เป็นเงินไทยและมีหนี้สินเป็นเงินยูโรก็จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปขายประเทศอังกฤษการที่ค่าเงินต่ำลงก็อาจจะทำให้ต้องขายสินค้าเป็นเงินสกุลเงินปอนด์ในราคาที่สูงขึ้นอาจจะทำให้ขายยากขึ้น แต่คิดว่าบริษัทที่มีลักษณะอย่างนี้คงมีจำนวนไม่มากนัก สำหรับนักลงทุนก็คงจะต้องดูว่าเราถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าวเรานี้หรือไม่

โอกาสในการลงทุน


ในช่วงที่เกิดการตกใจอย่างไม่สมเหตุผลเช่นนี้และราคาหุ้นในกระดานลดต่ำลงโดยไม่สมเหตุสมผล นั่นหมายความว่าเรารู้แล้วมันไม่ได้เกิดผลกระทบที่รุนแรงหรือเป็นระยะเวลานานการที่หุ้นตกราคาต่ำลงก็เป็นโอกาสที่นักลงทุนสามารถเข้าไปซื้อสะสมไว้ได้ โดยส่วนตัวผมเองก็ช่วยโอกาสนั้นไว้เช่นกัน
ไว้เราคอยติดตามกันต่อไปนะครับว่าการที่อังกฤษประชาชนอังกฤษต้องการออกจากสหภาพยุโรปนั้นจะถูกตอบสนองโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างไรและประชาชนอังกฤษจะทำอะไรต่อไปโดยที่เราก็ต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราถือหุ้นไว้ด้วยนะครับ