ธุรกิจเกือบทั้งหมดในโลกนี้ สามารถทำกำไรได้ก็เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งมีต้นทุนในการสร้างมูลค่าเพิ่มอยู่ค่าหนึ่ง ส่วนที่เหลือจึงเป็นกำไรของบริษัท การเพิ่มมูลค่านี้ไม่ได้หมายถึงการนำวัตถุดิบต่างๆ มาแปรรูปเท่านั้น แต่การให้บริการบางอย่างก็ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าได้ด้วย เพียงแต่แทนที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของตัวสินค้าโดยตรง แต่กลับเป็นการลดค่าใช้จ่ายของลูกค้าลง ทำให้ดูเหมือนว่าสินค้า-บริการของบริษัทมีราคาถูกกว่าการที่ลูกค้าจะทำสิ่งนั้นๆ เอง ตัวอย่างเช่นร้านค้าปลีกซื้อสินค้าจากห้างใหญ่นำไปขายในหมู่บ้าน แม้ว่าราคาขายจะสูงกว่าในห้างเล็กน้อย แต่ถ้าลูกค้าต้องเดินทางไปซื้อของในห้างเพียงชิ้นเดียว จะแพงกว่าการซื้อจากร้านเล็กๆ ในหมู่บ้านเอง เป็นต้น คราวนี้เราหันมาดูธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินกิจการกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นอกจากเราจะแบ่งบริษัทต่างๆ ออกเป็นหลายแนวทางแล้ว (เช่น ขายสินค้า, ให้บริการ, ฯลฯ) เรายัวแบ่งประเภทของสินค้าและบริการเหล่านั้นออกเป็นหลายอย่างมาก แต่ที่สำคัญที่เราต้องแยกให้ออกคือ
- เป็นสินค้า-บริการที่ตั้งราคาเองได้โดยอิสระ หรือ
- เป็นสินค้า-บริการที่ต้องตั้งราคาตามตลาด (ไม่มีความแตกต่าง หรือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ - Commodity) หรือถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ
มาดูข้อยากกันก่อน
ข้อยากนี้ก็คือ (2) สินค้า-บริการที่ต้องตั้งราคาตามตลาด จะเห็นว่าถ้าเป็นกิจการกิจการที่ถูกบังคับด้วยราคา และ/หรือ ต้องแข่งขันกับราคาตลาดแล้ว โอกาสที่กิจการจะสามารถทำกำไรได้มากมักต้องเป็นเพราะตลาดโตขึ้น คือมียอดขายเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องแย่งชิงลูกค้ามาจากคู่แข่ง เพราะหากต้องการแย่งชิงมาแล้ว การลดราคาหรือการส่งเสริมการขายอื่นๆ (ลด แลก แจก แถม) ปนอยู่ด้วยและมักทำให้อัตรากำไร (ขั้นต้น) ลดลง
ทำอย่างไรที่กิจการแบบ (2) จะทำกำไรได้มากขึ้น
กรณีหนึ่งที่กิจการที่มีสินค้าแบบโภทภัณฑ์จะมีกำไร (สุทธิ) มากขึ้นได้คือความสามารถในการควบคุมต้นทุน มีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่ต้นทุนต่ำลง (แต่ประเดี๋ยวก็ถูกเลียนแบบ) หรือมีความสามารถในการหาสินค้าเมื่อราคาตลาดต่ำมากักตุนไว้เพื่อจำหน่ายในเวลาที่ราคาตลาดสูงและได้กำไรมากขึ้น
แล้วถ้าธุรกิจเป็นแบบที่สินค้าถูกควบคุมราคาล่ะ กิจการแบบนี้จะมีกำไรเพิ่มสากขึ้นได้ก็เมื่อตลาดโตขึ้น (เมืองขยาย ประชากรมากขึ้น และ/หรือสามารถลดต้นทุนของสินค้า หรือต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น (เช่น เปลี่นนเงินกู้ดอกเบี้ยสูงมาเป็นการออกตราสารหนี้ของตัวเองที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเดิม)
ดังนั้นสำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุนในบริษัทที่ผลิต/จำหน่ายสินค้า-บริการที่ต้องตั้งราคาตามตลาด หรือถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ จะต้องดูว่ากิจการมีความสามารถตามที่ได้บอกไว้หรือไม่
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตา
แม้ว่าเราดูว่า กิจการที่เข้าข่ายข้อ (2) คือผลิต/จำหน่ายสินค้า-บริการที่ต้องตั้งราคาตามตลาด หรือถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ ไม่น่าสนใจเท่าไร แต่อย่าลืมเงื่อนไขพิเศษบางอย่างที่อาจจะทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้า-บริการประเภทนี้น่าสนใจขึ้นมาทันทีถ้า
- อัตรากำไรขั้นต้น / สุทธิ สูง (เช่น เกิน 30%)
- มีลักษณะของการผูกขาด คู่แข่งไม่สามารถเกิดได้
- ตลาดมีแนวโน้มสามารถโตขึ้นได้เรื่อยๆ
- หุ้นมีราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานของมัน
ธุรกิจที่น่าสนใจกว่า
แบบนี้คือแบบที่ (1) เป็นสินค้า-บริการที่ตั้งราคาเองได้โดยอิสระ อย่างนี้ ง่ายหน่อยเพราะไม่มีใครควบคุมอะไร เพียงแต่ราคาที่ตั้งขึ้นมานั้นจะมีลูกค้ายอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหรือไม่ ถ้าลูกค้ายอมจ่ายและ ยอดขาย กำไร มีแนวโน้มเติบโตนั่นนับได้ว่าเยี่ยมมาก
สุดยอดของธุรกิจ
คือสามารถควบคุมได้ทั้งคุณภาพคืออัตรากำไรขั้นต้น และปริมาณ คือยอดขายที่สามารถขยายตลาดได้ อาจจะบอกได้ว่าถ้าหาบริษัทที่สามารถควบคุมมูลค่าเพิ่มได้แบบนี้และสามารถเติบโตได้ในราคาที่เราคำนวณแล้วว่ายังไม่แพง หรือคนอื่นยังไม่เห็น หรืออยู่ในอาการกลัว นับว่าเป็นโชคในการลงทุนทีเดียว ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไปครับ