.
ถ้าจะพูดถึงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ นับว่ามีหลายรูปแบบ ที่จริงแล้วมีสารพัดแบบอาจจะเกินกว่าที่เราท่านจะคิดออก หรือคืดว่ามีได้จริงๆ ผมจะพยายามลองจำแนกออกดูนะครับสารพัดแนวทางนักลงทุน
นักลงทุนบางคนลงทุนในแนวพื้นฐาน ก็มักเลือกลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ มั่นคงและยังเติบโตได้ คำถามคือ มั่นคงจริงหรือไม่ และถึงแม้ว่ามั่นคงจริงก็มีคำถามต่อว่า แล้วมีบริษัทอื่นที่น่าลงทุนมากกว่าหรือไม่ เพราะบริษัทเหล่านี้มักเป็นบริษัทใหญ่และมั่นคง การเติบโตอาจจะไม่รวดเร็วนัก (ยกเว้นในบางกรณีที่มีผลการดำเนินงานกลับตัวเนื่องจากสภาพตลาดใหญ่เปลียนแปลงชั่วคราว เช่น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก เกิดการผันผวน เป็นต้น) แต่เอาน่ะ อย่างน้อยก็เรียกว่าพอจะมีหลักการที่จับต้องได้บ้าง
นักลงทุนบางคนลงทุนตามเพื่อน โดยการปรึกษาเพื่อน เห็นว่าเพื่อนซื้อหุ้นอะไรก็ซื้อตาม ปัญหาคือเพื่อนชำนาญเพียงใดไม่ทราบได้ หรือลืมถามว่าเพื่อนซื้อราคาเท่าไร (อาจจะต่ำกว่าเรามาก ตอนไปถามน่ะหุ้นขึ้นมาเยอะมากแล้ว เพื่อนขายได้ทุกราคา แต่เรายังต้องลุ้นต่อ) และเพื่อนขายหุ้นไปก็ไม่ทราบว่าจะมาคอยบอกเราไหม
นักลงทุนบางคนลงทุนซื้อหุ้นตามหมอดู (เอ่อ.. พูดจริงนะครับ ไม่ได้พูดเล่น มีแบบนี้จริงๆ ในจำนวนหนึ่งทีเดียว) ว่าในดวงเหมือนดวงระเทศแบบนี้ๆ จะต้องลงทุนในกิจการประเภทนั้นๆ คำถามคือกิจการนั้นจะดีจริงตามดวงไหม หรือแม้จะ "พอจะดี" จริง แต่กรรมเก่า (นั่น! ต้องให้เข้าบรรยากาศหน่อย) ยังเหลือไว้หรือไม่ กรรมเก่าก็เช่น หนี้สินที่สร้างพอกพูนเอาไว้ ขาดทุนสะสมที่มีอยู่ เป็นต้น
ที่เหลือนอกจากนี้อาจจะเป็นแนวเทคนิคอล ที่ดูราคา ปริมาณการซื้อขาย จังหวะเวลา แล้วนำมาผสมคำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์และสถิติสารพัดรูปแบบ สร้างเป็นอินดิเคเตอร์ให้ตัดสินใจได้ กรณีอย่างนี้อาจจะออกแนวที่เห็นหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน/ลงทุนต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์เป็น สินค้า มากกว่าที่จะเป็น การแสดงความเป็นเจ้าของกิจการ กรณีอย่างนี้โดยส่วนตัวแล้วพูดยากว่าจะจัดอยู่ในประเภทนักลงทุนหรือไม่ เพราะไม่ต้องดูพื้นฐาน เพื่อน หรือฟังหมอดูก็สามารถซื้อขายหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงิน/ลงทุนต่างๆ เพื่อหวังให้ได้กำไรได้ นอกจากนั้นก็ยังมีวิธีแบบผสมปนเปกันไป (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ได้ผลหรือเปล่า) ก็ไม่ว่ากันล่ะครับ ใครถนัดอย่างไรก็สามารถทำได้ตราบเท่าที่ยังถูกกฏหมาย
นักลงทุนแนวเน้นมูลค่า (VI - Value Investor)
ยังมีนักลงทุนอีกประเภทหนึ่งที่แตกออกมาจากแนวพื้นฐาน คือนักลงทุนแบบ VI (อ่านเรื่อง นักลงทุนแนวพื้นฐานและแนวเน้นมูลค่าต่างกันอย่างไร ประกอบ) บรรดา VI ไม่เหมือนกับนักลงทุน (หรือเก็งกำไร) ในอีกหลายรูปแบบที่มีวิธีการเลือกหุ้นที่จะซื้อหรือขายหลายวิธี (ตามที่อธิบายไว้ด้านบน) เพราะวิธีเหล่านั้นมักนำมาซึ่งทางเลือกในการซื้อ/ขายหุ้นได้หลากหลายมาก ในขณะที่ VI มีแนวทางที่แตกต่างไปมาก กว่าจะตกลงปลงใจซื้อหุ้นแต่ละตัวได้นั้น คิดแล้วคิดอีก คิดสารพัด บางทีคิดจนหุ้นขึ้นไปถึงไหนๆ แล้วก็มีมาก (ฮา...)
สำหรับ VI เรามักปฏิเสธหุ้นส่วนใหญ่ เนื่องจากเหตุผลหลายอย่าง หลักๆ คือ
- ไม่เข้าใจมัน นักลงทุนแนว VI ไม่ซื้อหุ้นที่ตัวเองไม่เข้าใจว่ากิจการทำอะไร ผลิตหรือให้บริการอะไร มีรายได้ รายจ่ายอย่างไร มีลูกค้าจากไหน เป็นต้น
- เห็นว่าการเติบโตขึ้นกับสิ่งภายนอก (พฤติกรรมผู้บริโภค การเมือง ความสามารถในการแข่งขัน เป็นต้น) มากเกินไป คือ ยอดขาย กำไร ไม่แน่นอน โดยที่ตัวเองไม่รู้จักหรือสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นั้น และไม่ทราบผลกระทบที่จะเกิดกับกิจการที่ลงทุนได้ดีพอ
- ไม่ชอบโมเดลธุรกิจแบบนั้น คิดว่า โตช้า เสี่ยงมาก คาดการรายได้ยาก รั่วไหลได้มาก เป็นต้น
- ราคาหุ้นในเวลานั้นไม่ถูก มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (MOS - Margin Of Safety) ไม่เพียงพอ ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้น นี่เป็นอีกจุดสำคัญเลยที่ทำให้ทางเลือกแคบลงไปอีก
- ไม่ไว้ใจผู้บริหาร ดูแล้วมักทำอะไรแปลกๆ พูดอย่างหนึ่งทำอีกอย่างหนึ่ง หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือไม่เคยสำเร็จ ได้แต่วาดฝันให้นักลงทุน มีประวัติการทำงานที่ไม่ดี (มีปัญหาเรื่องการฉ้อโกง) แบบนี้คงไม่สามารถถูกไว้ใจให้บริหารงานได้
- ต้องการผู้บริหารที่เก่งมากเกินไป กิจการที่ดี จะต้องดีด้วยตัวของมันเองส่วนหนึ่ง บางครั้งเราไม่ทราบได้ว่าผู้บริหารจะอยู่กับบริษัทไปนานสักเท่าไร หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ เรียกว่าถ้าขาดผู้บริหารนั้นไปกิจการคงถึงกับถอยกรูดรูดลงไม่เป็นกระบวน แบบนี้ก็ควรหลีกเลี่ยง (โดยส่วนตัว ผมชอบพูดว่า "ให้เลือกกิจการที่เอาแมวมาบริหารก็พอมีกำไร เพราะเราไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะได้แมวมาบริหารเข้าจริงๆ)
คิดดูสิครับ ว่าด้วยสารพัดเหตุด้านบน นักลงทุนแนว VI จะต้องทำงาน เฟ้น คัด ควานหา กลั่นกรอง กิจการที่ตัวเองชอบใจมากมายขนาดไหน แล้วจะเหลือตัวเลือกสำหรับแต่ละคนมากแค่ไหนกัน คงไม่มากนักจริงไหมครับ แต่ด้วยเหตุผลกลับด้านกันแล้ว ถ้านักลงทุนแบบ VI เข้าใจธุรกิจจริง เข้าใจตลาดจริง เข้าใจการเติบโตของบริษัทจริง ก็จะคาดเดาการเติบโต (หรือแม้กระทั่งการถดถอย ซึ่งทำให้ เราหลบหลีกทัน) ได้ มีจริตที่ชอบธุรกิจแบบนั้น และซื้อหุ้นนั้นมาในราคาที่ถูก (มี MOS เยอะ) ทำให้ VI มีโอกาสได่กำไรสูงมากครับ
ท่านพร้อมจะ ทำงาน เฟ้น คัด ควานหา กลั่นกรอง หรือยังครับ