วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดราม่าหุ้น


ในช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีหุ้นของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงราคาในทางลดลงค่อนข้างมาก ในเวลาเดียวกันก็มีเรื่องที่เรียกได้ว่า "ดราม่า" ยาวเป็นมหากาพย์เกี่ยวกับบริษัทนี้ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับติดต่อกันนานนับสัปดาห์ (ยังคิดในใจว่าไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้เหมือนกัน และ บริษัทเล็กๆ นี้อาจจะต้องขอบคุณ นสพ. เหล่านั้นที่ให้ความสำคัญมาก และทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ทั้งในและต่างประเทศ) นักลงทุนในหลายเว็บบอร์ดเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นล้วนพูดถึงบริษัทดังกล่าว ทั้งส่วนที่เป็นความจริง และส่วนที่เป็นความเห็น การคาดการณ์ต่างๆ ที่จะเป็นไปได้ในสารพัดอย่าง

เหตุเกิดจากเพราะมีหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงราคาเยอะมาก และก็เป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น มักมีข่าวร้ายตามมาเป็นชุด จริงเท็จยังยืนยันไม่ได้ (ตรงกันข้ามกับตอนหุ้นขึ้น มักจะมีข่าวดีตามมา จริงเท็จก็ยังไม่แน่เช่นกัน) ความเป็นจริงแล้วย้อนไปหลายเดือนก่อน การเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นนี้เป็นในทางขึ้น  คือเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด แต่ในช่วงเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ก็มีข่าวร้ายประดังเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาในทางตรงกันข้าม เพียงไม่กี่วันราคาลดลงกว่า 80% ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งสองด้าน เมื่อหุ้นขึ้นวิจารณ์ว่าทำไมขึ้นสูงจัง ขึ้นไปทำไม (มีทั้งคน "ตกรถ" และ "ขายหมู" เยอะ) เมื่อหุ้นลงก็วิจารณ์ บ่นไปตำหนิผู้บริหารจากผู้คนในตลาดไม่ว่าจะถือหุ้นหรือไม่ บางคนไปซื้อที่ราคายอดดอยคราวนี้ก็ขาดทุนจริงๆ  หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ลงข่าวร้ายติดกันหลายวัน (หลายส่วนไม่เป็นความจริงเป็นการจับแพะชนแกะด้วยซ้ำ) จนเป็นที่น่าสังเกตว่าเราไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเล่นเอาพนักงานของบริษัทที่ตั้งใจทำงานและกำลังเติบโต และรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัทเป็นอย่างไรบ้างงงไปตามๆ กัน

เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ได้หลายประการเกี่ยวกับหลักการในการลงทุนและผู้คนในตลาด

หุ้นทุกตัวมีพื้นฐานของมัน

ในการลงทุนเราต้องประเมินมูลค่าที่แท้จริงของกิจการทุกครั้งไป การที่หุ้นขึ้นมาสูงมากนั้นที่จริงแล้วเราต้องย้อนกลับไปดูหลายปีก่อนว่ามันขึ้นมาจากราคาเท่าไร เราอาจจะเห็นมันในช่วง 6-8 เดือนที่แล้วว่าขึ้นจาก 20 ไป 70 บาท แต่ที่จริงมันอาจจะขึ้นมาจาก 2-3 บาทก็ได้หรือถ้ารวมผลประโยชน์ที่บริษัทให้กับผู้ถือหุ้นตลอดมาต้นทุนที่แท้จริงก็อาจจะเหลือเพียง 1-2 บาท ในขณะที่ค่าที่แท้จริงก็เปลี่ยนไปตามการขยายตัวของบริษัทและความสามารถในการทำกำไร การซื้อหุ้นทุกครั้งถ้าขาดการประเมินว่าราคาที่เราซื้อมาในปัจจุบันสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาเหมาะสม ในหนึ่งหรือสองหรือสามปีข้างหน้า แล้วก็ย่อมสร้างปัญหามาก

นักลงทุนแบบลูกผีลูกคน

คนในตลาดส่วนใหญ่เป็น Price investor ไม่ใช่ Value investor หรือเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ในสองแบบนี้ หลายคนที่ทำตัวเป็นนักเก็งกำไร (Price investor) เวลาหุ้นลงก็กลับเก็บหุ้นนั้นไว้ แล้วเรียกตัวเองว่าเป็น Value investor จำเป็น ซึ่งไม่ใช่เลยเพราะที่แท้จริงเขาต้องดูว่าของที่ซื้อมานั้นถูกหรือแพงตั้งแต่ต้นแล้วไม่ใช่มาคิดทีหลัง ถ้าจะเป็นนักเก็งกำไรก็ต้องเป็นนักเก็งขาดทุนด้วยว่าขาดทุนได้เท่าไร ก็ขายตัดขาดทุนไป ส่วนในทางตรงกันข้ามอีกหลายคนทำท่าว่าจะเป็น Value investor ได้ ทั้งที่คำนวณพื้นฐานต่างๆ เป็นอย่างดีแล้วแต่พอราคาหุ้นปรับตัวลดลงกลับตกใจหวั่นไหวกับสิ่งรอบข้างด้วย แทนที่จะหาข้อมูลจากบริษัทโดยตรงโดยการพูดคุยกับผู้บริหารเมื่อมีโอกาส กลับเชื่อข่าวต่างๆ ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ (ที่ก็ไม่เคยพูดคุยกับบริหารเลย) หรือเชื้อเว็บบอร์ดต่างๆ ที่ต่างคนต่างเขียนกันตามจินตนาการ

ขาดการบริหารความเสี่ยง

ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนแบบใดก็ตามก็ต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี แน่นอนว่านักลงทุนแบบเน้นมูลค่า (VI - Value investor) มีการคำนวณมูลค่าของบริษัทและราคาของบริษัทมนตลาดหลักทรัพย์ แต่ความเสี่ยงย่อมแฝงและเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นก็ยังต้องมีการวางแผนในการ ทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด (แน่นอน ต้องต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมด้วย) กำจัดความเสี่ยงออกไปโดย ขายตัดขาดทุน ด้วย ทั้งหมดต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า คิดไว้ให้เรียบร้อยก่อนที่จะเกิดสิ่งต่างๆ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับจัดการไปตามแผนไม่ใช่ว่ามานั่งบ่นจนหลายวันผ่านไปก็ขาดทุนมาก

อยากได้ตามใจตัว

คืออยากได้ทั้งบริษัทที่ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นมากๆ และมีผู้บริหารที่ทำงานตามใจตัวเอง (ที่จริงตอนที่หุ้นขึ้นก็ไม่สนใจหรอกครับว่าผู้บริหารจะทำงานแบบไหน แต่พอหุ้นลงก็ชักไม่ถูกใจสารพัดอย่าง)

การซื้อหุ้น คือ การเป็นหุ้นส่วนของบริษัท ร่วมเป็นเจ้าของกัน แล้วเราก็ให้ผู้บริหารมาทำงานให้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เขาก็อาจจะเป็นเจ้าของบริษัทเหมือนกันกับเรานั่นแหละ (มากส่วนกว่าด้วย ในหลายบริษัท) ถ้าไม่ไว้ใจ ระแวง นอนไม่หลับ ก็ขายหุ้นนั้นทิ้งไปเสีย หรือไม่ควรซื้อแต่แรก ปล่อยให้คนที่เขาชอบเขาเห็นดีงาม และเข้าใจว่าบริษัททำอะไร (และไม่ทำอะไร) มีความเสี่ยงและผลตอบแทนแค่ไหนซื้อไป

โดยส่วนตัวจึงอยากให้คำแนะนำง่ายๆ เลยว่าถ้าไม่ไว้ใจ จะไปถือหุ้นทำไม จะไปซื้อหุ้นแล้วหวังให้เขาทำตามเรานั้นไม่ได้หรอก เพราะเขาเองก็อาจจะถือหุ้นบริษัทเขาเองด้วย และถือมากกว่าเราตั้งเยอะ (หุ้นขึ้น เจ้าของ ผบห. ที่ถือหุ้นมากอาจจะพอร์ตใหญ่ขึ้น แต่หุ้นลงก็เล็กลงมากกว่าเรานะ ซึ่งถ้า ผบห. ไม่ได้มีพฤติกรรมค้าหุ้นเพื่อหาเงินจากตลาดหุ้นเสียเอง ก็ถือว่าไม่ผิดปกติ) ไม่ว่าบริษัทไหน ก็ต้องใช้หลักการนี้หุ้นมีตั้ง 400-500 ตัว ไปยุ่งทำไมกับตัวที่ไม่ชอบจริงไหมครับ

สรุป

การลงทุนที่แท้จริงจะมีความสุขได้ก็คือเรารู้ค่าของการลงทุนนั้น (รู้ว่าราคาที่จ่ายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง) รู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและจัดการบริหารให้ดี สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเป็นการลงทุนในกิจการที่ถูกจริตกับเรา เราไว้ใจผู้บริหารและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบริษัท เมื่อเกิดปัญหาก็ให้กำลังใจต่อสู้กันไป (ถ้าปัญหานั้นร้ายแรงถึงกับเปลี่ยนพื้นฐานของการลงทุนก็อาจจะถอยทัพออกมาก่อน) ที่สำคัญก็คือต้องรู้จักการลดหรือกำจัดความเสี่ยง ในกรณีที่ซื้อหุ้นมาแล้วราคาขึ้นไปสูงมากก็ควรจะขายจำนวนเล็กน้อยเพื่อเอาทุนออกมา (อาจจะให้ได้กำไรนิดหน่อยด้วย) จากนั้นก็ปล่อยหุ้นที่เหลือเอาไว้ มันจะหรือลงเราก็คงไม่เดือดร้อนนัก หลายคนขาดทุนเพราะเมื่อกำไรแล้วไม่ขายออกมาบ้าง (โดยเฉพาะเมื่อราคาวิ่งเกินพื้นฐานในเวลานั้นไปมาก) 

อีกจุดที่สำคัญมากคือ ถ้าการอาศัยช่องทางการออกข่าวต่างๆ เป็นการจงใจที่จะทำร้ายกิจการของใคร และ/หรือต้องการกดราคาหุ้นให้ตกลงมา เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และน่าประนามการกระทำเป็นอย่างยิ่ง และเรานักลงทนก็ควรจำไว้ว่าใครเป็นผู้กระทำการดังกล่าว อย่าปล่อยผ่านไป ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเราซ้ำแล้วซ้ำอีกกับนักลงทุนรายเล็กรายน้อยครับ