ทุกวันนี้มีบริษัทมากมายในตลาดหลักทรัพย์ให้เราลงทุน บริษัทเรามีความสามารถในการทำกิจการพากันไปทางการผลิตจำหน่ายหรือให้บริการในรูปแบบ อย่างไรก็ตาม กิจการหนึ่งๆ อาจจะมีการดำเนินงานในหลายกิจการย่อย ในทางธุรกิจแล้วเรียกว่ามีหลายหน่วยธุรกิจ (business unit) นั่นเอง บริษัทที่ดีจะต้องมีความสามารถในการจำแนกแยกแยะรู้ตัวได้ว่าหน่วยธุรกิจของตัวเองนั้นหน่วยใดที่ทำกำไรหน่วยใดที่ไม่ทำกำไรบ้างหน่วยธุรกิจที่พึ่งกัน
มีหลายประเด็นที่หลายคนอาจจะสงสัยหรือไม่เข้าใจก็คือทำไมจึงต้องมีหน่วยธุรกิจหลายหน่วยอยู่ในบริษัทเดียวกัน โดยหลักการใหญ่แล้วก็คือให้ช่วยกันทำงานส่งเสริมกันสร้างผลกำไร ถ้าเรามองลึกลงไปหน่วยธุรกิจย่อยๆ ภายในบริษัทอาจจะเกี่ยวข้องพึ่งพาอาศัยกันหรือไม่เกี่ยวข้องก็ได้ ตัวอย่างเช่น หน่วยธุรกิจที่หนึ่งผลิตวัตถุดิบซึ่งไม่สามารถหาทดแทนได้จากที่อื่นโดยง่าย (และไม่รู้จะไปขายใครด้วย อาจจะเพราะเป็นของเฉพาะหรือด้วยโมเดลเพื่อให้กำไรแล้วจะต้องผลิตออกมาปริมาณมาก ทำให้เหลือ) แล้วป้อนให้กับหน่วยธุรกิจที่สองเพื่อทำการแปรรูปต่อไป นั่นคือถ้าขาดหน่วยธุรกิจแรกไปธุรกิจที่สองก็อาจจะมีปัญหาเรื่องของวัตถุดิบในการนำไปผลิตในทางกลับกันถ้าขาดหน่วยธุรกิจที่สองหน่วยธุรกิจแรกก็ไม่รู้จะเอาสิ่งที่ตัวเองผลิตได้นั้นไปขายให้ใคร กรณีอย่างนี้ถือว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ก็คงต้องมีชีวิตผูกติดกันไปเรื่อยๆ ในกรณีอย่างนี้ถ้าหน่วยธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งไม่ทำกำไรก็คงจะทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเป็นของที่พึ่งพาอาศัยกันและกันเรียกว่าโดยภาพรวมแล้วยังพออยู่ได้ก็อยู่กันไป
หน่วยธุรกิจที่ไม่พึ่งพากัน
ในหลายบริษัทอาจจะมีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจหลายหน่วยโดยที่แต่ละหน่วยนั้นไม่พึ่งพาอาศัยกันเท่าไหร่นัก เช่น หน่วยผลิตที่นำวัตถุจากภายนอกมาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ หน่วยขายก็นำสินค้าทั้งจากที่ตัวเองผลิตได้ และสินค้าจากผู้ผลิตอื่นนำไปขายในเวลาเดียวกัน หน่วยบริหารสินทรัพย์ด้านการลงทุน เช่น นำอสังหาริมทรัพย์ที่ตัวเองมีอยู่ออกให้เช่า จะเห็นว่าหน่วยธุรกิจต่างๆเหล่านี้แทบจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเท่าไหร่นัก บริษัทอาจจะเก็บหน่วยธุรกิจทั้งหมดเอาไว้และพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำกำไรได้ดีขึ้นก็ได้ แต่ในทางตรงข้ามถ้ามีหน่วยธุรกิจบางหน่วยที่ไม่ทำกำไรหรือขาดทุนล่ะ บริษัทจะทำอย่างไร
ตัดของเสียเหลือของดี
ในกรณีที่หน่วยธุรกิจต่างๆของบริษัทไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนัก บริษัทมีทางเลือกที่ดีอยู่อย่างน้อยหนึ่งช่องทางก็คือเลิกทำหน่วยธุรกิจที่ไม่ได้กำไรหรือขาดทุนออกไป ยิ่งถ้าเป็นหน่วยธุรกิจที่ขาดทุนมากจนดึงกำไรโดยรวมให้ลดน้อยตกต่ำลงมาก แล้วบริษัทตัดสินใจเลิกธุรกิจนั้นเสีย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผลกำไรจะเพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อกำไรเพิ่มขึ้น P/E ก็เพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทจ่ายปันผลอยู่แล้วก็อาจจะจ่ายได้มากขึ้น (ถ้าไม่มีตัวถ่วงเอาไว้เช่น หนี้สินมหาศาล) ขาดทุนสะสมมากมาย (ถ้าเป็นบริษัทจ่ายปันผลอยู่แล้วคงไม่ใช่กรณีนี้) หุ้นก็ขึ้นสิครับท่าน จะรออะไร!
โดยสรุป
ที่ยกตัวอย่างคุยให้ฟังทั้งหมดนี้โดยรวมแล้วก็คืออยากเน้นให้นักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการ (VI - Value Investor) ได้มองเห็นว่าการเข้าใจในธุรกิจที่เราต้องการลงทุนหรือเป็นเจ้าของร่วมนั้นมีความสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าธุรกิจทำอะไร มีใครเป็นลูกค้า ในบริษัทนั้นมีหน่วยธุรกิจย่อยอะไรบ้าง แต่ละหน่วยธุรกิจย่อยสัมพันธ์กันหรือไม่ ผู้บริหารมีแนวคิดในการดูแลแต่ละหน่วยธุรกิจย่อยอย่างทั่วถึงหรือไม่ (รู้ได้จากข่าว บทสัมภาษณ์ รายการทีวี คำถาม-ตอบในการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น) ถ้าทุกอย่างเหมาะสม เมื่อวันหนึ่งโอกาสมาถึง นักลงทุนแนววีไอ ก็อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนได้ดีทีเดียวครับ