วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

หุ้นดีต้องมีตำหนิ

หุ้นดีต้องมีตำหนิ

ฟังดูแล้วออกจะแปลก เพราะทุกครั้งที่เราต้องการซื้อของอะไรสักอย่างเรามักจะต้องเลือกเฟ้นให้สวยงามไร้ที่ติ แต่กับหุ้นทำไมเราถึงบอกว่าต้องเป็นของมีตำหนิ หรืออยู่ดีๆ ก็บอกว่าต้องไปซื้อของมีตำหนิเสียอย่างนั้นแหละ เรามาดูกันหน่อยดีกว่าว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น

ของสวยหรูเลิศ

ลองคิดดูว่า ถ้าเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า แล้วไปที่แผนกของหรูหรา หรือของปกติก็ได้ คือเป็นสินค้าปกติไม่มีตำหนิ ราคาขายย่อมถูกตั้งเอาไว้ตามปกติ ยิ่งเป็นสินค้าที่ได้รับการโปรโมทเป็นพิเศษ ยิ่งต้องจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปอีก (นึกถึงหุ้น IPO และบรรดาหุ้นเจ๋งๆ ราคาวิ่งปรู๊ดๆ ที่เขาเล่าต่อกันมาเอาไว้) สูงล้ำ เรียกว่าหรูตามความสวยเป็นเรื่องธรรมดา คราวนี้พอมาถึงเรื่องเกี่ยวกับหุ้น ความสวยที่ว่านี้ก็เช่น บริษัทมีอัตรากำไรและกำไรดี ตลาดตอบรับดีและเติบโต หนี้สินต่ำ ค่าเสื่อมราคาต่ำ มีข่าวว่าจะขยายกิจการไปต่างๆ นาๆ (แต่ ไม่มีอดีตให้เห็นว่าทำได้ หรือทำสำเร็จมาก่อน) ราคาที่วิ่งไปล่วงหน้าก็นับว่าเป็นราคาหรูหรานั่นเอง

หุ้นมีตำหนิเป็นอย่างไร

หุ้นมีตำหนิก็คือบริษัทมีตำหนินั่นเอง คือมีอะไรบางอย่างดึงราคาหุ้นเอาไว้ หรือแม้กระทั่งราคาถูกถล่มลงมาแรงๆ จากข่าวสารต่างๆ ที่ไม่เป็นจริง ตำหนิเหล่านี้จะกดราคาหุ้นเอาไว้ ทำให้เรามีเวลาซื้อมันในราคาไม่แพง ถ้าหุ้น/บริษัทไม่มีตำหนิเลย เราก็หมดโอกาสได้ของดีราคาถูก ราคาจะวิ่งไปที่ของมัน (ใกล้ หรือ เลยราคาเหมาะสมตาม value ของมัน) ทำให้ MOS ต่ำ/แคบ จนความเสี่ยงในการซื้อเพื่อการลงทุนมีมากขึ้น แต่ทั้งนี้เราก็ต้องดูว่าตำหนิที่ว่านั้นเป็นของที่แก้ไขได้หรือไม่ โดยเลือกตำหนิที่แก้ไขได้ เช่น
  • หุ้นเสือเจ็บ คือ ทำอะไรบางอย่างผิดพลาด หรือโดนคู่แข่งเอาชนะไปได้ในบางเกม แต่ตัวเองยังคงอยู่ได้ มีอีกหลายสายธุรกิจ (business unit) ที่ทำกำไรได้ มั่นคง และเติบโตได้
  • มีแผลเป็น (แต่แก้ไขได้) แผลเป็นที่ว่านี้หนักกว่าเสือเจ็บหน่อย เช่น ผิดพลาดจนขาดทุนสะสมมาในอดีต แต่ถ้าอนาคตยังดีสามารถทำกำไรได้ก็อาจจะค่อยๆ ล้างขาดทุนสะสมได้ แต่อาจจะนานหน่อย นอกจากนั้นยังสามารถ ลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสมได้ หรือใช้ วิธีอื่น ในการล้างขาดทุนสะสม ถ้าทำสำเร็จ บริษัทก็จะเปลี่ยนสถานะทางการเงินกลับมาได้
  • มีตำหนิปลอม หรือแค่ไม่สมบูรณ์ชั่วคราว เช่น ถูกโจมตีด้วยข่าวที่ไม่จริง คนคิดไปเอง, หรือ จัดการได้ หรือเพียงแต่เป็นหุ้นที่ยังไม่ถึงเวลาของมัน เปรียบไปก็เหมือนกับปลูกมะม่วง มะม่วงยังไม่ออกช่อก็ราคาไม่สูง เมื่อใดที่ออกช่อก็มีราคาขึ้นเอง แบบนี้คือตำหนิ หรือข้อติ สำหรับคนใจร้อน แต่กับคนใจเย็นนั้นโอกาสทำกำไรก็อยู่ตรงหน้า
  • งบการเงินไม่สวย ก็อาจจะเป็นตำหนิเทียมได้ เช่น ยอดขายตกลงชั่วคราว ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพิ่ม ผลตอบแทนยังไม่เกิดแต่ต้องตัดค่าเสื่อมราคาแล้ว เป็นต้น
  • ราคาที่ดูแพงเกินไป (หรือแม้แต่สำหรับบางคนคือดูเหมือนจะถูกเกินไปจนสร้างความระแวงได้) ทำให้ P/E ดูสูงเกินไปก็อาจจะเป็นความไม่สมบูรณ์แบบก็ได้ แต่ทั้งนี้เราต้องดูว่ากำไรวิ่งตามมาทันหรือไม่ด้วย
ทำอย่างไรถ้าหุ้นเรากลับใจ จากมีตำหนิกลายเป็นหรูหรา

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหุ้นไม่มีตำหนิเลย และหุ้นขึ้นไปเยอะมากๆ เราได้กำไรมากแล้ว อาจจะเป็นโอกาสในการขาย หรือ อย่างน้อยก็ขายเอาทุนกลับมาให้หมดก่อนก็ยังดี สำหรับหุ้นหรูหราทั้งหลายที่มีข่าวต่างๆ ดีเลิศไปหมด และราคาวิ่งนำไปแล้ว หุ้นพวกนี้สำหรับผมแล้วไม่ใช่ "Too good to be true" หรอกครับ แต่มันเป็น "Too good to buy (and make profit)"  เพราะว่าราคามันแพงเกินไป ไม่ใช่เพราะบริษัทมันเป็นอะไรไป บริษัทเขาก็ยังทำกิจการดีๆ ต่อไป แต่เรานี่สิที่อาจจะขาดทุนได้ง่ายมากๆ (แต่ถ้านึกอยากสนุก ก็คงห้ามกันไม่ได้ แต่ถือกรรไกรเอาไว้ขายตัดขาดทุนให้เร็วๆ ก็แล้วกันครับ)

สรุป
  1. หุ้นมีตำหนิ ที่ว่าดีเพราะมันดีกับเรา คือเรามีโอกาสทำกำไรจากมัน
  2. หุ้นไม่มีตำหนิ ไม่มีข้อติ ราคามักแพง โอกาสทำกำไรยากขึ้น
  3. หาหุ้นตำหนิ หรือมีข้อติ ที่ไม่เป็นจริงหรือแก้ไขง่ายให้พบ ก็มีโอกาสทำกำไรได้