วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

เรื่องเล่าจากการประชุม ผถห.


ช่วงเวลานี้ของปีนับว่าเป็นเวลาแห่งการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเลยก็ว่าได้  ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕

"หมวด ๗ การประชุมผู้ถือหุ้น
มาตรา ๙๘ คณะกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปีภายในสี่เดือน นับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท การประชุมผู้ถือหุ้นคราวอื่นนอกจากวรรคหนึ่ง ให้เรียกว่าการประชุมวิสามัญ"

ดังนั้น สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ซึ่งมีรอบบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. ช่วงเวลาของการประชุมสามัญประจำปีก็จะเป็นช่วงเวลานี้ล่ะครับ
การเข้าร่วมประชุมสามัญจำปีสำหรับผู้ถือหุ้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนโอกาสพบกับผู้บริหาร มีโอกาสได้ฟังคำสรุปต่างๆ สอบถามและออกความเห็นในเรื่องสำคัญของบริษัทตามวาระการประชุมต่างๆ รวมทั้งการตอบข้อสงสัยต่างๆ ด้วย ก็ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างหนึ่งที่หากมีเวลาแล้ว นักลงทุนที่มีเวลาก็ควรไปร่วมการประชุมนะครับ

จากการเข้าประชุมเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน ผมก็มีข้อสังเกตต่างๆ หลายข้อนำมาเล่าสู่กันฟัง เช่น

1) นลท. จำนวนมากไม่รู้ philosophy การทำธุรกิจของบริษัท

หลายบริษัทอาจจะเป็นบริษัทอนุรักษ์นิยม โตช้าแต่ภูมิคุ้มกันสูง ทั้งตัวธุรกิจเองและผู้บริหาร บางบริษัทเป็นบริษัท High return ความเสี่ยงสูง แต่อยุ่รอดได้ด้วยการบริหารความเสี่ยง บางบริษัทมีหลายหลากธุรกิจ บางส่วนทำกำไร บางส่วนยังไม่ทำกำไร บางบริษัทมีชื่อและอยู่กลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งแต่มีรายได้ในอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น ทำให้บางครั้งในการสอบถามผู้บริหารแล้วเกิดความไม่เข้าใจกัน กว่าจะปรับความเข้าใจได้ก็ใช้เวลามาก อย่างไรก็ตามก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าใจนั่นแหละครับ แต่ก็น่าจะดีกว่าไหมถ้านักลงทุนเข้าใจดีก่อนการซื้อหุ้นนั้นๆ ด้วย หรือหากไม่เข้าใจนักก็อาจจะซื้อหุ้นเพียงไม่มาก และเข้าไปสอบถามปรัชญาการดำเนินธุรกิจแบบตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าผู้บริหารยินดีให้คำตอบที่ชัดเจนและเข้าใจได้อย่างแน่นอน

2) เชื่อข่าวตามสื่อแบบจริงจัง

เรื่องนี้จะโทษนักลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่เมื่อเราได้ยินอะไรบ่อยๆ เข้า เราจะเชื่อตามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเพื่อนๆ ของเราเชื่อด้วย เรายิ่งเชื่อใหญ่ และสำคัญที่สุดคือคนเรานั้นแปลก อะไรที่พิสูจน์ได้ชัดๆ บางครั้งไม่ค่อยเชื่อเท่าไร แต่เรื่องลึกลับดำมืดกลับเชื่อกันแบบไม่ลืมหูลืมตาก็มี การสนใจข่าวตามสื่อนั้นเป็นเรื่องดี แต่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าจริงหรือไม่ ควรเชื่อหรือเปล่า และเรื่องนี้ต้องโทษสื่อบางค่ายบางพวกด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีมากมาย ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจว่าสื่อก็ไม่ได้รู้เรื่องการเงิน เรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจต่างๆ ดีพอ หรือก็ไม่ได้เป็นนักลงทุนเหมือนกับเรา บางที ผบห. พูดอย่างหนึ่งแต่เขียนไปอีกแบบ (โดยเฉพาะข่าว หรือการให้ข่าวที่เป็นภาษาต่างประเทศ) คราวนี้ไปกันใหญ่ เพราะความผิดเพี้ยนแพร่ไปในวงกว้าง บางที ผถห. เอาข่าวด้านนอกเหล่านี้มาถามอย่างเอาเป็นเอาตายโดยไม่ได้ยืนยันความถูกต้องของข่าวก่อนว่าจริงหรือไม่ ก็ทำให้ ผบห. มึนงงไปว่าคุยเรื่องเดียวกันหรือเปล่าก็มี

3) นักลงทุนจำนวนไม่น้อยไม่รู้เรื่องการเงิน

ผู้คนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ย่อมมีหลายหลาก เป็นสีสันของทุกๆ ตลาดในโลกใบนี้ แน่นอนว่าไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องรู้เรื่องงบการเงิน แต่โดยส่วนตัวแล้วถ้าเรียกตัวเองว่า "นักลงทุน" ก็ควรจะมีความรู้ด้านการเงินและงบการเงินตามสมควร โดยเรื่องนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเรื่องการเงิน การอ่านงบการเงินอย่างง่าย รวมทั้งการอ่านบทสรุปของผู้สอบบัญชี มีมาแล้วที่นักลงทุนถาม ผบห. ว่าผู้สอบบัญชี "ไม่รับรอง" งบการเงิน ทั้งในความเป็นจริงแล้ว ผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงิน "ไม่มีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต" ซึ่งเป็นการรับรองงบการเงินนั้น แบบไม่มีเงื่อนไข เพียงแต่มีข้อสังเกต (ให้นักลงทุนค้นคว้าเพิ่มเติม) เล่นเอา ผบห. งงไปตามกันก็มี

ส่วนที่สองคือ นักลงทุนส่วนหนึ่งไม่สามารถ "เห็นภาพ ต้นทุนทางการเงินและผลตอบแทนที่คุ้มค่า และคุ้มเสี่ยง ในจังหวะธุรกิจที่ดี" ได้ ดังนั้นบางคนจะถามหาเพียง ต้นทุนต่ำสุด ผลตอบแทนสูงสุด และ ไม่มีความเสี่ยงเลย เอิ่ม... สำหรับหลายๆ ธุรกิจก็คงนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรกันล่ะครับ คนอื่นเอาไปรับประทานหมดก่อนแล้วล่ะ แต่ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่ชอบบริษัทแบบนี้ ไม่เข้าใจมัน เราก็อย่ามาถือหุ้นนั้นๆ เท่านั้นเอง

4) มุมมองที่ทับซ้อน

หลายมุมมองเป็นเรื่องหยุมหยิมทับซ้อนหน้าที่ของ ผู้สอบ บ/ช ที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดเจน ที่เขาต้องทำอยู่แล้ว แต่กลับไม่ไว้ใจ แน่นอนว่านักลงทุนสามารถสงสัยได้ แต่คำถามที่สะท้อนว่าไม่ได้ถามเพื่อความเข้าใจ แต่ถามในรายละเอียดแบบไม่ไว้ใจ การถามที่น่าจะดีกว่าคือถามว่าได้ตรวจดูรายละเอียดเหล่านั้นในระหว่างการสอบบัญชีหรือไม่ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

5) สนใจจุกจิกอยู่แต่กับอดีต

แน่นอนว่าอดีตที่ผ่านมาสามารถทำให้เขามองเห็นอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นเพียงคำว่า "อาจจะ" เท่านั้น  ความจริงแล้วนักลงทุนควรสนใจอนาคตให้มาก กับ สนใจว่าบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิดมหันต์ไว้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (หรือ ถ้าผิด จะแก้ไจได้ไหม เสียหายเท่าไร) ก็เพียงพอแล้ว คำถามที่ควรถามจึงน่าจะมุ่งเน้นไปในสองส่วนนี้ หรือ จะรวมส่วนการเอาอดีตมาสอนให้ทำให้ดีขึ้นในอนาคตก็ได้

6) นักลงทุนหลายคนชอบ "ทางลัด"

บางครั้งมีคำถามประเภทที้ว่า "ปีนี้จะกำไรเท่าไร" ก็ไม่แน่ใจว่าทราบหรือไม่ว่า ผบห. ตอบไม่ได้ (ถ้าตอบเพียงนิดเดียว อาจจะมีข่าวออกไปยาวเหยียดและเป็นคนละเรื่อง) สิ่งที่นักลงทุนคสรถามคือ แนวโน้มตลาด คู่แข่ง โอกาสทางการค้าใหม่ๆ ความเสี่ยงต่างๆ จากนั้นต้องทำการบ้านเองบ้างเพื่อคาดหมายสิ่งที่ตัวเองอยากรู้ 

ส่วนใหญ่ถ้าผมถามคำถามต่างๆ ก็มักจะเป็นคำถามที่ทำให้เรามองเห็นภาพความปราดเปรื่อง (intelligence) ของผู้บริหารในการสร้างทางเลือกและหลบเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหรือแฝงอยู่หรือถามเกี่ยวกับการเทียบเคียงกับสิ่งที่ดี (benchmarking) เพื่อการพัฒนาหรือต่อยอด ซึ่งก็น่าจะเป็ฯประโยชน์กับทั้งบริษัทและนักลงทุนด้วยกันครับ