วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

กำไรและขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์

กำไรและขาดทุนจากการตีราคาสินทรัพย์

เมื่อกิจการเริ่มขึ้น ย่อมต้องมีส่วนประกอบต่างๆ ในอันที่จะสร้างคุณค่าในสินค้าและบริการให้กับลูกค้าของตัวเอง ในการนี้ก็จะต้องมีทุนจากการระดมของผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) และอาจจะมีการกู้เงินร่วมมาด้วย สองส่วนรวมกันเป็นสินทรัพย์ซึ่งจะถูกนำไปปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ สินค้าคงคลัง รวมทั้งทรัพย์สินไม่มีตัวตนอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ ในระบบบัญชีดั้งเดิมเราจะบันทึกราคาทรัพย์สินเป็นราคาทุน หักลบด้วยค่าเสื่อมราคาต่างๆ ค่าเสื่อมราคาของสิ่งต่างๆ จะไม่เท่ากัน เช่น ที่ดินอาจจะไม่มีค่าเสื่อมราคา เครื่องจักรคิดค่าเสื่อมราคาใน 10 ปี รถยนต์ 5 ปีเป็นต้น โดยค่าเสื่อมราคาจะถูกหักออกจากกำไรขั้นต้น (และเก็บเอาไว้ ไม่สามารถนำไปจ่ายปันผลได้ เพราะต้องนำไปซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ทดแทนโดยไม่ต้องเพิ่มทุน และ/หรือ กู้เงินเพิ่ม) บางกรณีอาจจะต้องหักด้วยการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ด้วย ทำให้กำไรรวมลดน้อยลง และหักไปเรื่อยๆ เช่นนั้นเพื่อในที่สุดแล้วเมื่อเครื่องจักร/อุปกรณ์หมดอายุการใช้งานแล้วกิจการจะได้มีเงินสำหรับซื้อเครื่องจักรใหม่นั่นเอง (ดูเรื่อง ค่าเสื่อมราคา ประกอบ)

วิธีข้างต้นที่อธิบายมานี้เรียกว่า "วิธีราคาทุน" มีข้อดีคือตรงไปตรงมา มีหลักฐานชัดเจนว่ากิจการซื้อ เครื่องจักร อุปกรณ์ มาเท่าไร แล้วก็หักค่าเสื่อมอะไรกันไป แต่วิธีนี้อาจจะมีข้อเสียคือ หากในระหว่างที่กิจการดำเนินการไป เครื่องจักรต่างๆ ที่กิจการใช้อยู่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นนัยยะว่าเมื่อเครื่องจักรปัจจุบันที่ใช้งานอยู่นี้หมดอายุหรือเสื่อมสภาพลง กิจการจะต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทน ถ้าเรายังคงใช้การตัดค่าเสื่อมราคาด้วยราคาทุนเดิม (ซึ่งตัวเลขน้อย ราคาถูก) สุดท้ายเมื่อเครื่องจักร อุปกรณ์ หมดอายุลง กิจการก็จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อทดแทนเพราะว่าหักค่าเสื่อมราคาไว้ไม่พอ

มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558)

มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558) ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ในย่อหน้าที่ 31 ได้ระบุเรื่องการตีราคาสินทรัพย์ใหม่เอาไว้ ว่าภายหลังจากการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ หากที่ดิน อาคารและอุปกรณ์นั้นสามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องแสดงรายการดังกล่าวด้วยราคา ที่ตีใหม่ คือ มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่มีการตีราคาใหม่หักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม และ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมที่เกิดขึ้นในภายหลัง โดยกิจการต้องตีราคาสินทรัพย์ใหม่อย่างสม่ำเสมอพอ เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่าตามบัญชีจะไม่แตกต่างจากมูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานอย่างมีสาระสาคัญ ทั้งนี้ กิจการต้องใช้นโยบายบัญชีเดียวกันสำหรับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ทุกรายการที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน

นั่นแปลว่า กิจการจะเลือกใช้วิธีเดิมก็ได้ หรือเลือกใช้วิธีใหม่นี้ก็ได้ (แต่ต้องไม่กลับไปกลับมา) และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีซึ่งทั้งบริษัทและนักลงทุนควรได้รับการแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนด้วย

ผลดีของการตีราคาสินทรัพย์ใหม่ (เครื่องจักร อุปกรณ์ ฯลฯ) ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงทำให้บริษัทรู้ว่าตัวเองมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าเท่าใด ทำให้บริษัทตัดค่าเสื่อมราคาถูกต้อง (เมื่อคิดว่าราคา เครื่องจักร อุปกรณ์สูงขึ้น ก็ต้องตัดค่าเสื่อมราคาในแต่ละปีมากขึ้น) เมื่อถึงเวลาที่เครื่องจักรหมดอายุ กิจการก็จะมีเงินเหลือมากขึ้น (แม้จะไม่มากพอ เพราะการตัดค่าเสื่อมราคาแรกๆ ตัดด้วยราคาเครื่องจักรที่ต่ำ) และใกล้เคียงกับการที่จะสามารถซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่มาทดแทนได้ เรียกว่าแม้เงินจะไม่พอ ถึงต้องกู้เพิ่มหรือเพิ่มทุนก็เป็นส่วนน้อย ดีกว่าการใช้วิธีราคาทุนแบบเดิม

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก "วิธีตีราคาใหม่"

เนื่องจากมีการตีราคาบรรดาสินทรัพย์กันใหม่ ทำให้มีผลตามมาคือ มูลค่าของสินทรัพย์ในงวดบัญชีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากในงวดบัญชีก่อนหน้า ซึ่งมักปรากฏอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น คำถามคืออยู่ดีๆ ส่วนของผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนไปเฉยๆ นั้นคงไม่ได้ จึงจะต้องมีการบันทึกส่วนต่างกันที่ว่านี้ไว้ในส่วนของกำไรขาดทุน (เบ็ดเสร็จอื่น) นั่นเอง ถ้าการเลือกใช้วิธีตีราคาใหม่เป็นเพราะต้องการให้สะท้อนความเป็นจริงของธุรกิจ หลีกเลี่ยงการเพิ่มทุน/กู้มากในอนาคต (เพราะเก็บเงินสดไว้มากขึ้นจากค่าเสื่อมราคาที่สูงขึ้น) ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าตั้งใจเพื่อทำให้ เครื่องจักร ที่ดิน อุปกรณ์ มีราคาสูงขึ้นเพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity / มูลค่าทางบัญชี Book Value) เพิ่มสูงขึ้น อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำลง และบริษัทแสดงกำไรมากผิดปกติ ก็สามารถเป็นการหลอกให้ผู้ที่ไม่รอบคอบคิดว่าบริษัทมีกำไรมากขึ้นและราคาหุ้นยังถูกอยู่ (P/E ยังต่ำอยู่)

โดยสรุป

นโยบายบัญชีต่างๆ มีไว้เพื่อหลักการเดียวกันคือให้กิจการแสดงผลการดำเนินงานที่ตรงตามความเป็นจริงที่สุด อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนนโยบายบัญชีในบางงวดบัญชีอาจจะทำให้นักลงทุนเห็นว่ากิจการมีผลการดำเนินงานดีขึ้น (หรือในทางตรงกันข้ามคือแย่ลง) ได้ ดังนั้นเมื่อเราเห็นตัวเลขต่างๆ แล้วผิดปกติมากเกินไปก็อาจจะต้องตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนนโยบายบัญชีตรงจุดใดบ้างหรือไม่ในงวดนั้นๆ ครับ

หมายเหตุ

มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2558)

ย่อหน้าที่ 30 วิธีราคาทุน
ภายหลังจากการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ กิจการต้องแสดงรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์นั้นด้วยราคาทุนหักค่าเสื่อมราคาสะสม และผลขาดทุนจาก การด้อยค่าสะสมของสินทรัพย์

ย่อหน้าที่ 31 วิธีการตีราคาใหม่
ภายหลังจากการรับรู้รายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ หากที่ดิน อาคารและอุปกรณ์นั้นสามารถวัดมูลค่ายุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการต้องแสดงรายการดังกล่าวด้วยราคา ที่ตีใหม่ คือ มูลค่ายุติธรรม ณ วันที่มีการตีราคาใหม่หักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสม และ ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสะสมที่เกิดขึ้นในภายหลัง กิจการต้องตีราคาสินทรัพย์ใหม่อย่างสม่าเสมอพอ เพื่อให้แน่ใจว่ามูลค่าตามบัญชีจะไม่แตกต่างจากมูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานอย่างมีสาระสาคัญ

ย่อหน้าที่ 39
หากการตีราคาสินทรัพย์ใหม่ทำให้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้น กิจการต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาใหม่ไปยังกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น และรับรู้จำนวนสะสมไปยังส่วนของเจ้าของภายใต้หัวข้อ “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์” อย่างไรก็ตาม กิจการต้องรับรู้ส่วนเพิ่มจากการตีราคาใหม่นี้ในกำไรหรือขาดทุนไม่เกินจำนวนที่ตีราคาสินทรัพย์ดังกล่าวลดลงในอดีตและเคยรับรู้ในกำไรหรือขาดทุน

ย่อหน้าที่ 40
หากการตีราคาสินทรัพย์ใหม่ทำให้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์นั้นลดลง กิจการต้องรับรู้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ในกำไรหรือขาดทุน อย่างไรก็ตาม กิจการต้องนำส่วนที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ไปรับรู้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นในจานวนที่ ไม่เกินยอดคงเหลือด้านเครดิตที่มีอยู่ในบัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์” ของสินทรัพย์รายการเดียวกันนั้น โดยการรับรู้ส่วนที่ลดลงในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น จะมีผลทำให้บัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์” ที่สะสมอยู่ในส่วนของเจ้าของลดลงตามไปด้วย