วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คัทลอสไม่ทัน

คัทลอสไม่ทัน

ในการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ในสินค้าทุนหรือหุ้นนั้น หลายตำรา (รวมทั้งผมเองด้วย) จะถือว่าการคัทลอสนั้นเป็นสิ่งแรกๆ ที่นักลงทุนควรฝึกให้เป็น (ดู วิชาแรกวิชาคัทลอส) แรกๆ อาจจะดูติดขัดหรือไม่ชิน แต่ถ้าเราได้คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเรายอมรับการขาดทุนได้เท่าไร (เช่น เราลงทุน 10,000 บาท ถ้ามันเหลือ 9,750 บาท ถือว่าโอเค เราก็คัทลอสที่ 2.5% เป็นต้น และยินดีที่เหลือเงินอยู่ 9,750 บาทนั้น ดีกว่ามองเห็นมันลดลงไปเรื่อยๆ)

แต่ในบางกรณี นักลงทุนอาจจะพาตัวเองไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เรียกว่า "คัทลอสไม่ทัน" ได้

ที่จริง ก็คัทลอสทันนั่นแหละ แต่เกิดความเสียหายมากกว่ามาตรฐานของตัวเองที่กำหนดเอาไว้ (เช่น 2.5% อย่างที่คิดเป็นตัวอย่างให้ดูด้านบน เป็นต้น)

ดูๆ ไป สำหรับนักลงทุนมือใหม่ๆ อาจจะคิดว่า เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีหุ้นหรืออะไรที่เราคัทลอสไม่ทัน ขอบอกเลยว่ามีเยอะเลยล่ะในอันที่จะทำให้เราเสียหายได้มาก มาดูตัวอย่างกันครับ

  1. การลงทุนในตลาดที่เปิดตอนเราหลับ คือ เราหลับ (ก็หลับไง แล้วใครจะมาเฝ้าราคาให้) ตื่นเช้ามาอีกทีราคาของบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ก็หลุดร่วงไปไหนต่อไหนแล้วไม่รู้ (แม้ว่า บางทีอาจจะเกิดสิ่งตรงกันข้ามที่ว่าราคาขึ้นไปไหนต่อไหน ได้กำไรมากมายก็มี) 
  2. การใช้มาร์จินบวกกับจังหวะที่แย่ของการลงทุน การกู้เงินเพื่อมาลงทุนนั้นถือเป็นความเสี่ยงมากมายเพิ่มขึ้น เราสามารถทำได้ในกรณีเฉพาะจริงๆ เท่านั้นคือ หุ้นเป็นขาขึ้นและมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริงมากๆ ก็จะเสี่ยงน้อยลง (ยังเสี่ยงอยู่) 
  3. การเพิ่มทุนที่เราเสียเปรียบ เช่น มีการ PP (Private Placement) ให้กับนักลงทุนบางกลุ่มในราคาต่ำมากและไม่ติดช่วงเวลาห้ามซื้อขาย (Silent Period) 

อย่างแรกและอย่างที่สองนั้นเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่ไปยุ่งกับตลาดที่เทรดกันตอนที่เราหลับ โดยที่เช้าขึ้นมาหุ้นหรือค่าของสินทรัพย์นั้นก็หลุดร่วงลงไปมาก อย่างที่สองคือไม่ใช้การกู้เงินมาลงทุน เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของตัวเองขึ้นมาก

มาอย่างที่สาม คือ เราต้องระวังการลงทุนในบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่น่าไว้ใจ เช่น (1) มีประวัติการหาเงินจากราคาหุ้นและ/หรือการที่บริษัทตัวเองอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (โดยการซื้อๆ ขายๆ หุ้น การเพิ่มทุน ออกข่าวต่างๆ ว่าจะทำนั่นทำนี่ พอราคาหุ้นรับข่าวล่วงหน้าไปแล้วก็ล้มเลิก เป็นต้น) (2) บริษัทที่ไม่มีแกนกลางในการทำธุรกิจอย่างแท้จริง (พิสูจน์ได้จาก ยอดขาย อัตรากำไร ที่เติบโตขึ้นมากกว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน)  (3) บริษัททำสิ่งต่างๆ เสียชื่อเสียง (ส่วนมากก็คือในด้านการหลอกลวงนักลงทุน) จนต้องเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวย่อหุ้นมาหลายครั้ง เป็น้น

ในบรรดาสิ่งที่ต้องระวังทั้ง 3 อย่างนี้ อย่างสุดท้ายเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้นักลงทุน "เจ็บปวด" ที่สุดในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเป็นการถูกเอาเปรียบโดยตั้งใจจากบรรดาเจ้าของเดิม และผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น  ถ้าหันมองรอบๆ ตัวในปัจจุบันก็คงนึกออกได้ว่าเป็นหุ้นตัวไหนบ้าง คงไม่ต้องออกหรือเอ่ยชื่อหรอก ซึ่งนักลงทุนก็ต้องระวังให้ดี อยู่ให้ห่าง ให้นักเสี่ยงภัยเขาเล่นกันไปน่าจะดีกว่านะครับ