วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

มาสำรวจคุณภาพพอร์ตกันดีกว่า

มาสำรวจคุณภาพพอร์ตกันดีกว่า

ช่วงนี้ (ที่จริงก็เป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้วเหมือนกันนะ) ถ้าเรามองดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทบจะเรียกได้ว่า "ไม่ไปไหน" คือไม่ไปทั้งเพิ่มขึ้นหรือลดลง สามวันดี สี่วันไข้ ห้าวันงงๆ ก็ว่าได้ ทั้งกองทุน นักลงทุนต่างชาติ และพร็อพเทรด (Proprietary trading หรือบัญชี บล. ซึ่งคือการที่บริษัทค้าหลักทรัพย์ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเงินของบริษัทเพื่อทำกำไร จนบางทีนักลงทุนไทยเรียกว่า "ปอบ") ก็ดูเหมือนไม่ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว สภาพเศรษฐกิจที่นักลงทุนแบบเราท่านที่ได้สัมผัสกับตลาดจริงๆ เช่น ตลาดสด ตลาดท่องเที่ยว การลงทุนใน real sector (คือการลงทุนจริงเพื่อผลิตสินค้าและบริการ ไม่ใช่ภาคการเงิน) สังเกตได้ก็คือ การจับจ่ายต่างๆ น้อยลง ผู้คนใช้จ่ายกันอย่างระวังตัวขึ้น หลายคนมีเงินแต่ไม่ใช้ หลายคนมีหนี้ก็พยายามสร้างหนี้ให้น้อยลงหรือลดหนี้ลง พวกที่ยังตั้งหน้าตั้งตาสร้างหนี้เพราะการขาดวินัยทางการเงินนั้นก็คงมีอยู่เป็นปกติ และมีแทบทุกประเทศในโลกนี้แหละครับ ยกเว้นบางประเทศที่ฝึกคนให้มีวินัยสูงมาแต่เด็กเช่น ญี่ปุ่น และ เยอรมัน ที่อัตราหนี้สินภาคครัวเรือนต่อ GDP (Gross Domestic Product หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ดูจะคงที่หรือมีแนวโน้มลดลง ตรงจุดนี้ถ้ามองให้ทั่วๆ ไปก็คือ เศรษฐกิจไทยยังไม่อยู่ในขั้นที่เติบโตได้ดี นั่นเอง ผลก็คือทำให้ภาคส่วนการลงทุนต่างๆ จดๆ จ้องๆ ไม่ทำอะไรเป็นจริงเป็นจัง เราจะเห็นว่าผลัดกันซื้อผลัดกันขาย ทั้งตลาดหุ้นและอนุพันธ์ต่างๆ ในการนี้ก็มีนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งใจหากำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้นทั้งสองตลาด ก็คงได้บ้างเสียบ้างเป็นปกตินั่นเอง

สำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้นในระยะกลางถึงยาวแล้ว ช่วงเวลาแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการสำรวจคุณภาพพอร์ตของตัวเองว่าเป็นอย่างไร เพราะหุ้นเองก็ไม่ได้วิ่งไปไหน ไม่วิ่งทั้งขึ้นและลง หันซ้ายแลขวาไม่เปิดพอร์ตดูหลายวันก็ไม่ไปไหน เรียกว่ามีเวลาทบทวนหรือทำการบ้านโดยไม่ต้องระแวงหน้าหลังมากนัก (จะว่าไป นักลงทุนแบบยาวๆ นี้ก็ไม่ได้ระแวงอะไรมาก เพียงแต่ตื่นเต้นไปกับเขาบ้างเป็นบางครั้งเท่านั้นเอง เดี๋ยวจะหาว่าเป็นทองไม่รู้ร้อนไปเสีย) เลยหันมาดูพอร์ตตัวเองดีกว่า คราวนี้มาดูว่าเราต้องดูอะไรบ้าง ก็แบ่งออกเป็น 3 ภาคคือ
  • เชิงปริมาณ
  • เชิงคุณภาพ
  • โอกาสลงทุนอื่น
มาดูกันทีละข้อครับ

1) เชิงปริมาณ

คือเราดูว่า หุ้นในพอร์ตเรานั้น "โดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก" แล้ว มีคุณภาพเป็นอย่างไรในเชิงปริมาณ เชิงปริมาณก็คือสิ่งที่เราคิดเป็นตัวเลขได้ ก็คือค่าสัดส่วนทางการเงินต่างๆ ก็คือ p/e (ราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้นต่อปี), p/bv (ราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชี), Dividend Yield (อัตราผลตอบแทนเงินปันผล), ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์), ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ซึ่งบางท่านอาจจะคิดอย่างอื่นด้วย แต่ผมดูเพียงเท่านี้เป็นหลัก ยกเว้นมองเห็นอะไรผิดปกติเป็นพิเศษ โดยการคิดเราจะถ่วงกับ "ปริมาณบางอย่าง" ของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตของเราด้วย เช่น
  • เมื่อคิด p/e มีวิธีคิดได้สองแบบคือ (1) โดยการหา Earning (กำไรสุทธิ) ของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกันหารด้วยราคาตลาดของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน จะทำให้เราทราบว่าราคาเฉลี่ยของหุ้นในพอร์ตเราถูกหรือแพง และ (2) โดยการหา Earning (กำไรสุทธิ) ของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกันหารด้วยราคาทุนของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน จะทำให้เราทราบว่าเราถือหุ้นในพอร์ตที่ราคาถูกหรือแพง (บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องคิดอันที่สอง ก็เพราะว่า Earning ของบริษัทต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ p/e เมื่อเทียบกับต้นทุนของเราเปลี่ยนได้เช่นกัน)
  • เมื่อคิด p/bv ก็คล้ายกับด้านบน คือคิดได้สองแบบ (1) คิดโดยการคำนวณมูลค่าทางบัญชีของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน หารด้วยราคาตลาดของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน และ (2) คิดโดยการคำนวณมูลค่าทางบัญชีของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน หารด้วยราคาทุนของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน (ทุนของพอร์ต) การคิดสองแบบนี้จะทำให้เราทราบว่าโดยรวมแล้วราคาตลาดของหุ้นเราเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีนั้นถูกหรือแพง การคิดแบบที่สองทำให้ทราบว่าหุ้นของเราถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป
  • เมื่อคิด Dividend Yield หรืออัตราปันผลรวม จะคิดว่าทั้งพอร์ตจะได้เงินปันผลเท่าใด แล้วหารด้วยจำนวนเงินต้นทุนที่ซื้อหุ้นมาทั้งหมด
  • เมื่อคิด ROA จะคิดโดยการหา Earning (กำไร) ของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน หารด้วยสินทรัพย์ในส่วนที่เราถือหุ้นทั้งหมดรวมกัน
  • เมื่อคิด ROE จะคิดโดยการหา Earning (กำไร) ของหุ้นทุกตัวในพอร์ตรวมกัน หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นในส่วนที่เราถือหุ้นทั้งหมดรวมกัน
ระหว่างที่เราคำนวณสิ่งเหล่านี้ ให้สังเกตให้ดีกว่าหุ้นใดแพงเกินไป หรือถูกเกินไป แยกเป็นรายตัวไปด้วย

เพียงเท่านี้เราก็จะเห็นคุณภาพพอร์ตของเราในเชิงปริมาณว่าเป็นอย่างไร สำหรับท่านที่ถือหุ้นตัวที่ดีมากและดีน้อยปนๆ กันอยู่ ถ้าถือหุ้นที่ดีมากเป็นปริมาณมากและดีน้อยเป็นปริมาณน้อย ก็ถือว่าปลอดภัยอยู่ ในขณะที่หากเป็นตรงกันข้ามก็จะทำให้ตัวเลขเชิงปริมาณของพอร์ตออกมาไม่ดีนัก ทำให้เราเห็นจุดบกพร่องและคิดหาทางระวังและ/หรือปรับพอร์ตต่อไปเมื่อมีโอกาส (เช่น สลับตัว ขายตัวแย่ออก ปรับเป็นตัวที่ดีกว่า เป็นต้น)

2) เชิงคุณภาพ

ในเชิงคุณภาพเป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่สามารถหาตัวเลขมายืนยันได้แน่นอน เพราะมันอาจจะยังไม่เกิดขึ้น โดยเราจะดูคุณภาพของบริษัททั้งในปัจจุบันและอนาคต สิ่งที่ต้องดูก็เช่น การเติบโตของตลาด (ตลาดในที่นี้หมายถึง ตลาดของสินค้าและบริการที่บริษัทของเรา ผลิต ค้าขาย ให้บริการอยู่ ไม่ใช่ตลาดหุ้นนะครับ) การเติบโตของบริษัทในตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่บอกมาเป็นตัวเลขได้ยาก ต้องเกิดจากวิสัยทัศน์และการคาดการณ์ของเรา ว่าในอนาคตระยะกลาง ระยะยาวนั้น ตลาดสินค้าและบริการนี้จะเป็นเช่นไร บริษัทเราจะโตได้หรือโตได้ทันตลาดที่เติบโตหรือไม่ คู่แข่งจะเกิดได้หรือไม่ มาได้อย่างไร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากทั้งสิ้น เราอาจจะใช้วิธี "ให้คะแนน" จาก 1-10 ของคุณภาพรวมของหุ้นแต่ละตัวของเรา แล้วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับต้นทุนที่เราซื้อแต่ละตัวมา ก็จะได้คุณภาพเชิงปริมาณโดยรวมของหุ้นของเราเมื่อเทียบกับต้นทุนของเรา

ในระหว่างที่เราพิจารณาเชิงคุณภาพ ก็ลองพิจารณาเรื่องความโปร่งในของการบริหารงาน การใส่ใจในการบริหารของผู้บริหารไปด้วย

3) โอกาสลงทุนอื่น

ด้วยความที่ราคาทรัพย์ในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซื้อง่ายขายคล่อง ตลาดหลักทรัพย์จึงมีเสน่ห์ไม่รู้คลาย อย่างไรก็ตามการลงทุนในชีวิตของเรานั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่ตลาดหลักทรัพย์ เราอาจจะลงทุนในตราสารอื่นๆ ในหุ้นของบริษัทเอกชนส่วนตัว ในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งเก็งกำไร ทั้งการให้เช่า หรือสองอย่างผสมกันก็ได้ ก็เป็นช่วงเวลาที่เราจะย้อนกลับมาดูว่า ถ้าหุ้นบางตัวแพงเกินไป ราคาไปต่อไม่ได้ เราอาจจะหาโอกาสขายออกมาแล้วลงทุนด้านอื่นบ้าง ถ้าสามารถได้ต้นทุนที่ต่ำก็ยิ่งปลอดภัยขึ้น (เช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์มาในราคาต่ำ) บางครั้งทรัพย์ที่ลงทุนเหล่านั้นอาจจะมีราคาคงที่ เพิ่มขึ้นช้า หรือหากโชคดีอาจจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการที่เราถือหุ้นไว้ก็มีนะครับ

หรือแม้แต่ย้อนมาที่ตลาดหลักทรัพย์เอง ระหว่างที่เราสำรวจและหลังจากเราคำนวณตัวเลขต่างๆ จนเห็นคุณภาพพอร์ตของตัวเองทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เราอาจจะ ขายทำกำไร เก็บเงินสด เปลี่ยนตัว สลับตัว (ขายตัวแย่ ไปเพิ่มตัวดี) หรืออื่นๆ ก็จะทำให้เรามีหลักการในการลงทุนดีขึ้น มากกว่าจะต่อยสะเปะสะปะไปเรื่อยๆ ซึ่งเทคนิคนี้เป็นสิ่งที่ผมทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มลงทุนและคิดว่าเพื่อนๆ น่าจะนำไปใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกันครับ