วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ต้มกบ

ต้มกบ


ขึ้นชื่อหัวเรื่องอย่างนี้ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาหุ้นยังทำท่าทรงๆ และขยับขึ้นมาบ้างในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (ทั้งที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ทำท่าจะดีเท่าไร) อาจจะด้วยแรงเก็งกำไรในผลประกอบการของบริษัทต่างๆ เมื่อเริ่มมีการประกาศผลประกอบการ ราาหุ้นก็ค่อยๆ ขยับลงมากบ้างน้อยบ้าง บริษัทไหนออกมาดีก็ Sell On Fact บริษัทไหนออกมาแย่ยิ่ง Sell On Fault (ฮา..) อีก บางครั้งราคาค่อยๆ ขยับลงโดยไม่รู้ตัว หรือพร้อมกับความหวังว่ามันจะขยับกลับตัวในเวลาอันสั้น จึงเริ่มมีคำว่า "ต้มกบ" กลับมาพูดกันอีก ส่วนตัวผมเมื่อได้ยินคำนี้ทีไรก็แอบคิดในใจเหมือนกันว่าทำไมต้องต้มกบ จะต้มเขียดหรือสัตว์อื่นได้ไหม หรือต้องใส่เครื่องปรุงหรือเปล่าในระหว่างที่ต้ม เสร็จแล้วก็สำคัญมากคือ อร่อยหรือเปล่า

นอกเรื่องไปนิดหนึ่ง คำนี้ในลักษณะความหมายของผู้พูด ก็น่าจะหมายถึงการที่ว่าถ้าเรานำกบ ใส่ลงไปในน้ำร้อนเลยทีเดียว กบก็จะกระโดดออกจากหม้อโดยไม่ตาย แต่ถ้าเรานำกบใส่ลงไปในหม้อที่มีน้ำอุณหภูมิปกติอยู่ จากนั้นค่อยๆ ต้มให้น้ำร้อนขึ้นๆ กบก็จะไม่ตกใจ และในที่สุดก็จะตายเนื่องจากน้ำร้อนเกินไปสำหรับมัน สภาพการณ์แบบนี้จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับราคาหุ้นที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปโดยที่นักลงทุนไม่รู้ตัว หรือเกิดความเคยชินและไม่ยอมทำอะไรกับมันจนกระทั่งขายหุ้นทิ้งเพราะขาดทุนมากในที่สุด ที่อาจจะสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนผู้คนส่วนหนึ่งทนไม่ได้ ต้องเข้าไปซื้อ จากนั้นมันก็ค่อยๆ ซึมลงๆ จนกระทั่งคนเหล่านั้นขาดทุนหนักและขายออกมา (แล้ว? ก็ได้เวลาขึ้นอีกครั้งหนึ่งพอดี!)
นักลงทุนแบบ Price Investor ต้องระวังไม่เป็บกบให้โดนต้ม
นักลงทุนแบบ Price Investor (PI)
ก็มีโอกาสทำกำไรได้ โดยต้องระวังไม่ตกเป็น
กบ นอนอุ่นในหม้อน้ำให้โดนต้มจนเดือด

ทุกครั้งที่ได้ยินคำนี้ผมนึกขึ้นทันทีว่าผู้คนเหล่านั้นน่าจะเป็นนักลงทุนตามราคา (Price Investor, PI) ซึ่งถ้าไม่มีใครบัญญติศัพท์นี้มาก่อน ผมก็ขอถือโอกาส (และสิทธิ) ในการบัญญัติเสียเลยก็แล้วกันนะครับ (ฮา..) มากกว่าที่จะเป็นนักลงทุนตามพื้นฐานมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (Value Investor, VI) เพราะสำหรับลงทุนประเภทเน้นมูลค่าของกิจการหรือที่เรียกว่า VI นั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้หวั่นไหวกับราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่สนใจว่าความสามารถในการทำกำไร การเพิ่มยอดขาย การเติบโตในระยะยาวของกิจการที่ลงทุน (หรือสนใจจะลงทุน) เป็นอย่างไร นักลงทุนประเภท VI เข้าใจดีว่าผลงานของธุรกิจย่อมมี ขึ้นมาก ขึ้นน้อย ทรงๆ ลงนิดหน่อย แล้วเติบโตต่อ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้ แต่ถ้าท้ายที่สุดแล้วกิจการเติบโตในตัวเลขที่เราคาดหวัง ในกรอบเวลาที่เราคาดการณ์ คำนวณแล้วได้มูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาปัจจุบันมาก (อ่าน วิชาที่สองวิชาหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ) ภายใต้ส่วนเผื่อเพิ่อความปลอดภัย (Margin Of Safety, MOS) ที่เรากำหนดไว้ นักลงทุนแบบวีไอก็คงรู้สึกเฉยๆ และนอนหลับสบายเหมือนทุกคืนอยู่ดี
นักลงทุนแบบ Value Investor (VI) มีมูลค่าที่แท้จริงของกิจการเป็นสิ่งอ้างอิง
นักลงทุนแบบ Value Investor (VI)
ใช้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการเป็นสิ่งอ้างอิง
ทำให้การตัดสินใจ ซื้อ ถือ หรือขาย หรือ
ประยุกต์สร้างแผนกลยุทธ์ต่างๆ ทำได้ง่าย
และมีความเสี่ยงต่ำลง



จะเห็นได้ชัดเจนว่าการตัดสินใจซื้อหรือขายของนักลงทุนแบ VI นั้น อยู่บนพื้นฐานของ "ราคาที่เหมาะสม" ซึ่งหลายกรณีราคาที่เหมาะสมนั้น "สูงกว่าปัจจุบันหลายเท่า" ตราบใดที่บริษัทยังคงดำเนินกิจการไปในทิศทางและผลงานที่นักลงทุนแบบ VI ยังเห็นว่าสมควรไปตามการคำนวณราคาเหมาะสมหลายเท่าตัวนั้น เขาก็จะยังคงถือหุ้นนั้นอยู่โดยไม่สะทกสะท้านเท่าใดนัก

VI ไม่สนใจราคาหุ้นเลยหรือ

ยัอนกลับมาเรื่องของราคาหุ้น แน่นอนว่าแม้เป็น VI ที่ ไม่หวั่นไหว แต่ก็คงต้อง สนใจ ราคาหุ้นอยู่ แต่เราดูหรือสนใจเพื่อเปรียบเทียบว่าราคาหุ้นมูลค่าที่แท้จริงต่อหนึ่งหุ้นของกิจการที่สนใจนั้นอะไรถูกหรือแพงกว่ากัน หรือดูว่าคนในตลาดมีความรู้สึกโดยรวม (ต่อตลาด สภาพการเก็งกำไร และอื่นๆ) อย่างไร ตราบใดที่ราคาตลาดของหุ้นยังไม่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการที่ตัวเองสนใจ นักลงทุนแบบวีไอก็คงไม่รู้สึกอะไรมากนัก อาจจะตื่นเต้นบ้างว่าจะราคาต่ำอย่างนั้นอยู่นานเท่าไร และนานพอที่จะหาเงินเพิ่มหรือนำเงินปันผลงวดต่อๆ ไปมาซื้อหุ้นได้หรือไม่เสียมากกว่า เพราะส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนแบบวีไอมักซื้อหุ้นในราคาต่ำ (มาก) ก่อนคนอื่นจะเห็น (มาก อีก) เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหุ้นอาจจะเปลี่ยนราคาเพิ่มสูงขึ้นไปจนมีนักลงทุนแบบ Price Investor (PI) เข้าไปซื้อในช่วงปลาย จนเมื่อราคาค่อยๆ ลดต่ำลงมาจนขาดทุนมากแล้วขายหุ้นออกไป นั่นแหละครับที่อาจจะเรียกว่า "ต้มกบ" ได้บ้าง แต่... ราคาที่ว่านักลงทุน PI ขาดทุนกันแล้วนั้นน่ะ VI เขายังได้กำไรกันอยู่นะครับ เผลอๆ อาจจะแบ่งขายจนไม่เหลือต้นทุนในหุ้นที่เหลืออยู่แล้วก็ได้

VI ซื้อๆ ขายๆ บ้างไหม

จริงอยู่ที่หลายครั้งนักลงทุนแบบ VI อาจจะซื้อขายหุ้นบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการติดตามราคา ซึ่งหลายคนไม่มีเวลาดังกล่าวนี้ เช่นอาจจะมีธุรกิจหรืองานประจำอื่น มีภาระอื่นที่ต้องดูแล การลงทุนแบบ VI จึงค่อนข้างเหมาะกับคนเหล่านี้ด้วย และเป็นการ "ลงทุน" จริงๆ คือเอาเงินไปลงไว้แล้วได้ผลตอบแทน เพราะเมื่อใดที่เราต้องนั่งเฝ้าซื้อขายเพื่อทำกำไร เมื่อนั้นก็เป็น "งาน" และผู้กระทำก็กลายเป็น "พ่อค้าหุ้น" มากกว่าที่จะเป็น "นักลงทุน" ไป

ต้มกบหรือไม่ต้มกบ

สรุปเป็นการส่วนตัวแล้วก็คือคำว่า ต้มกบ นั้นเป็นคำสำหรับนักลงทุนแบบ PI ที่ไม่มีวินัยทางการขายตัดขาดทุนนั่นเอง แต่สำหรับนักทุนแบบ VI ที่มี margin of safety ที่ดี แถมพกด้วยการติดอาวุธใน "วิชาหุ้น" ทั้ง 5 วิชา นั้นคงไม่ได้ตื่นเต้นตกใจไปกับเขานักครับ