ความรู้เกี่ยวกับหุ้น การเงิน การลงทุน ธุรกิจ สร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัว เพื่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนและมีความสุข แบบภาษาชาวบ้าน บทความต่างๆ เป็นของผู้เขียน (ยกเว้นระบุไว้เป็นอย่างอื่น) จากความรู้ ประสบการณ์ และอาจมีความเห็นร่วมอยู่ด้วย ขอให้ผู้อ่านตรวจสอบข้อมูลก่อนนำไปใช้ หากนำบทความไปเผยแพร่ กรุณาระบุผู้เขียน "มือเก่าหัดขับ" และที่อยู่ของบล็อกนี้ ขอบคุณครับ [Email: muegaohudkub@gmail.com]
วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560
การขึ้นเครื่องหมาย ST คืออะไร
เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการทำงาน และการลงทุน รวมทั้งการกำกับดูแลและเตือนนักลงทุนว่าหุ้นที่นักลงทุนสนใจนั้นมีอะไรเกิดขึ้น (หรือกำลังจะเกิดขึ้น) ก็ด้วยการ "แขวนป้าย" ต่างๆ ไว้บนชื่อย่อหลักทรัพย์นั้น (อ่านเรื่อง การขึ้นเครื่องหมายของบริษัทจดทะเบียน) แต่ในช่วงที่มีหุ้นเข้าใหม่มากๆ เราจะเห็นว่าบางครั้งจะมีการขึ้นเครื่องหมายอื่นนอกเหนือจากที่เราได้กล่าวกันมา ก็คือเครื่องหมาย ST กับหุ้นใหม่นั้น
ST คืออะไร
ST ย่อมาจาก Stabilization ตามคำศัพท์แล้วแปลว่าทำให้มีเสถียรภาพ อาจจะดูงงๆ หน่อย แต่เจาะจงกับกรณีของหุ้นจะหมายถึง หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อหุ้นเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกิน โดยเป็นการบอกให้นักลงทุนทราบว่าตอนที่ทำ IPO (Initial Public Offering) นั้น ผู้จัดจำหน่าย (และรับประกันการจัดจำหน่าย) มีการยืมหุ้นมาจาก บริษัทที่กำลังจะเข้าใหม่เป็นจำนวน xxxx หุ้นนะ และหลังจากที่จัดจำหน่ายเรียบร้อย ผู้จัดจำหน่ายก็ต้องหาหุ้นมาคืนส่วนที่ขอยืมมานั้น
การหาหุ้นมาคืนอาจจะซื้อจากในกระดาน (ถ้าราคาต่ำกว่า IPO) หรือ ใช้สิทธิ "รองเท้าเขียว" (Exercise greenshoe option) จากผู้ให้สิทธิ Greenshoe option เอามาคืน ซึ่งจะมีกำหนดว่าทำในช่วงวันที่เท่าใดถึงเท่าใด ดังนั้นในระหว่างที่มีการหาหุ้นเอามาคืนด้วยวิธีการใดๆ นั้น ตลาดหลักทรัพย์ก็จะแขวนป้าย ST (Stabilization) เพื่อบอกว่า ตอนนี้เขาจะยึกๆ ยักๆ พยายามหาหุ้นไปคืนไอ้ที่โป้วมา นะจ๊ะ
สิ่งที่น่าสนใจ
เรื่อง ST นี้ น่าสนใจตรงที่ มักจะกำหนดเงื่อนไขราคาไว้ว่า:
ราคาในการซื้อเพื่อส่งมอบหุ้นที่จัดสรรเกินต้องไม่สูงกว่าราคาจองซื้อหลักทรัพย์ / ราคา IPO หรือ ไม่สูงกว่าราคาเสนอซื้อสูงสุดในขณะนั้น หรือ ไม่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายในขณะนั้น ทั้งนี้แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่ากัน
จะเห็นว่า การจะเอาหุ้นมาคืนได้ ก็มีสองวิธี
1) ซื้อจากตลาด ในกรณีที่หุ้นราคาต่ำกว่า IPO ก็จะซื้อจากตลาดเอามาคืน ผู้จัดจำหน่ายก็จะได้กำไรส่วนต่างไป
2) ใช้สิทธิ greenshoe option คือจ่ายเงินเอามาคืน กรณีแบบนี้ ถ้าราคาตลาดสูงกว่า IPO ผู้จัดจำหน่ายก็ขายหุ้นออกไปแล้วมาใช้สิทธิ Green Shoe (ในราคาเท่าๆ กับ IPO นั่นแหละ) แล้วซื้อหุ้นมาคืน ก็ได้กำไรเช่นกัน
นั่นคือ ถ้าราคาในกระดาน ดันต่ำกว่า IPO เขาก็จะไปซื้อหุ้นมาคืนจากในกระดาน เป็นการพยุงราคาหุ้นเอาไว้ ในระยะหนึ่ง
แต่ถ้า ราคาหุ้นขึ้นไป บ. ผู้จัดจำหน่าย ก็จะใช้สิทธิซื้อหุ้นจอง Greenshoe option เอามาคืน ก็ได้กำไรส่วนต่างด้วย
ส่วนควรเข้าซื้อหุ้นแบบนี้ไหม ในระยะสั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ ส่วนในระยะยาวแล้วราคาของหุ้นย่อมเป็นผลสะท้อนของผลการปฏิบัติงานและความคาดหวังในการเจริญเติบโตของบริษัทนั้นๆ ครับ