วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

ความสามารถในการรับความเสี่ยงกับนิสัยการลงทุน

 
ความสามารถในการรับความเสี่ยงกับนิสัยการลงทุน
ใครๆ ก็ทราบดีว่าการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง ก็จะไม่ทราบได้อย่างไรล่ะครับ ในเมื่อทุกครั้งที่เราได้ยินโฆษณาไม่ว่าจะเป็นกองทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ สารพัด เรามักจะได้ยินคำพูดนี้แถมท้ายมาด้วยเสมอว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลต่างๆ และตัดสินใจด้วยความรอบคอบ บลาๆๆ" ที่ บลาๆ ก็เพราะว่าหลังจากนั้นอาจจะมีข้อความต่อมาอีก แต่เร็วมากและเสียงเบาลงมากจนเข้าใจยากมากนั่นเอง  ก็.. เป็นอันจับใจความได้ว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ก็แล้วกัน (ซึ่งก็ จริงตามนั้นแหละครับ)

กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้นักลงทุนจะต้องทำ ”แบบประเมินความเสี่ยงในการลงทุน" หรือ Suitability Test ทุกๆ 2 ปี เพื่อทราบความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าผมเองในฐานะนักลงทุนก็ต้องทำแบบทดสอบนี้กับเขาด้วย (ดีใจจังเลย เพราะปกติแล้วไม่ค่อยได้ทำอะไรกับหุ้นมากนัก คือ จะซื้อก็วางแผน ตั้งหน้าตั้งตาซื้อ จะขายก็วางแผนขายไปตามเรื่องตามราว) ผมก็ตั้งใจทำแบบสอบถามนี้อย่างเต็มที่ เหมือนกับกลัวว่าจะสอบตกแล้วอดเป็นนักลงทุนเสียอย่างนั้นล่ะ

หลังจากมะงุมมะวาหราอยู่พักใหญ่ๆ (ส่วนมากจะเป็นคำถนมเกี่ยวกับอาชีพนั่นล่ะ เพราะมีบริษัทส่วนตัวเล็กๆ ด้วย แต่ต้องเลือกว่าบริษัทตัวเองทำอะไรให้ใกล้ความจริงหน่อย) ก็ทำแบบสำรวจออกมาได้ครบทุกข้อ ผลปรากฏว่า ผมเองจัดอยู่ในนักลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูงมาก
จะว่าไปผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจมากนักว่า "นักลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูงมาก" นั้นแปลว่าอะไร จะแปลว่า "สามารถรับความเสี่ยงได้มาก" หรือ "ทำตัวเสี่ยงมาก" กันแน่ แต่ผลการทดสอบออกมาแบบนี้ทำให้ได้แง่คิดบางอย่างเหมือนกัน

ความสามารถในการรับความเสี่ยง

นักลงทุนแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเสี่ยงต่างๆ ไม่เท่ากัน ความเสี่ยงในที่นี้ นอกจากเป็นเรื่องของเงินทุนที่หดหายลงเนื่องจากการขาดทุนแล้ว ยังรวมถึงความเสี่ยงส่วนตัวอื่นๆ อีกด้วยเช่น สุขภาพ ภาระด้านการเลี้ยงดูครอบครัว ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และแหล่งที่มาของรายได้อื่น
  • ถ้านักลงทุนมีสุขภาพไม่ดีความเสี่ยงส่วนสุขภาพก็จะสูง ซึ่งสามารถลดได้ด้วยการสำรองเงินไว้สำหรับรักษาพยาบาล หรือการทำประกันสุขภาพต่างๆ
  • ถ้ามีภาระด้านการเลี้ยงดูครอบครัวมาก จะลดความเสี่ยงด้านนี้ลงก็ด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น หรือ มีรายได้มากขึ้น
  • ความเสี่ยงด้านความมั่นคงในการงาน สำหรับผู้ที่มีงานไม่มั่นคง ก็มีความเสี่ยงส่วนนี้ ทางแก้ไขก็คงไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนงาน แต่เป็นการสำรองเงินไว้ในยามฉุกเฉินเสียก่อน และ/หรือ สร้างหนทางที่มีที่มาของรายได้หลายทาง
นิสัยในการลงทุน

อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ผมสงสัยว่า แบบสอบถามนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับความเสี่ยงของนักลงทุน ไม่ใช่การทำตัวในการลงทุน เพราะถ้าพิจารณาตัวเองแล้ว ผมน่าจะเรียกได้ว่าเป็นนักลงทุนที่อนุรักษ์นิยมเอามากๆ ด้วยซ้ำไป คือ แม้ว่าจะคิดหาการลงทุนใหม่ๆ เผื่อไว้ในอนาคตอยู่เสมอ แต่ ในการ "ลงเงิน" จริงๆ นั้นจะระวังว่าของที่จ่ายเงินไปนั้นมีค่าสูงกว่าราคาของมันจริงๆ และคิดหาทางหนีทีไล่เอาไว้เสมอ จะเรียกว่า ขี้กลัว ส่วนหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก

นี่คือจุดที่น่าสนใจกว่า เพราะเรามักได้ยินเสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยงบ้าง High Risk - High Return บ้าง ซึ่งสำหรับผมแล้วมันก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง เพราะขึ้นกับว่าตัวเราเองทำอะไรกับมันอย่างไร เราเอาเงินใส่ธนาคารไว้ก็ถือว่าเป็นการลงทุน เพราะก็ได้ผลตอบแทน ซึ่งโดยรวมแล้วทุกท่านก็ทราบดีว่าในปัจจุบัน (ปี 2558-2560) ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยติดดิน การฝากเงินไว้กับธนาคารก็จะขาดทุนเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น หรือการเลือกลงทุนหุ้นที่ควรมีราคาสูงกว่าปัจจุบันมาก (เพราะมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบันสูงอยู่แล้ว โดยไม่ต้องรออนาคต) แต่ผู้คนในตลาดหวาดกลัวจนมี "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" สูงมาก แบบนี้การเข้าไปซื้อหุ้นด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็คงต้องเรียกว่า Low Risk - High Return ต่างหาก
ในทางตรงกันข้าม หากนักลงทุนซื้อขายหุ้นตามกัน (ตามแห่) หรือถามเพื่อน ถามคนที่คิดว่ารู้ อยู่ทุกวันว่า "พรุ่งนี้ซื้ออะไรดีครับ" หรือ "วันนี้ซื้อตัวนี้มา พรุ่งนี้ขายหรือถือดีคะ" แบบนี้สิที่เรียกว่าการเสี่ยงดวงจริงๆ

ความสามารถในการรับความเสี่ยงกับนิสัยในการลงทุน

ถ้าเราย้อนเอาความสามารถในการรับความเสี่ยงกับนิสัยการกระทำของนักลงทุน มาเขียนเป็นรูปแบบส่วนผสม น่าจะได้ออกมาคร่าวๆ ประมาณ 4 แบบตามภาพที่ 1
ความสามารถในการรับความเสี่ยงและนิสัยความเสี่ยงของนักลงทุน
ภาพที่ 1 ความสามารถในการรับความเสี่ยง
และนิสัยความเสี่ยงของนักลงทุน

จะเห็นว่า "นักลงทุน" ที่แท้จริงและมีความสุข มักทำตัวอยู่ในส่วนที่ คือนักลงทุนประเภทที่ 1 คือสบายกายสบายใจ พร้อมในการเงินเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ คือนักลงทุนประเภทที่ 2 แม้จะรับความเสี่ยงไดัน้อยกว่าประเภทแรก แต่ก็เลือกวิธีการลงทุนที่ปลอดภัย* ดังนั้นจึงมีความเครียดน้อยลงและมีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ถ้าหันมาดูนักลงทุน (?) ที่เป็นประเภททำตัวเสี่ยงภัย จะเห็นว่า คือรับความเสี่ยงได้น้อยแถมยังทำตัวเสี่ยงมาก นี่คือนักพนันอย่างแท้จริง หวังได้มากในขณะที่ตัวเองไม่พร้อม ในขณะที่กลุ่มบุคคลที่ ที่รับความเสี่ยงได้ดีแต่ทำตัวเสี่ยงมากในการลงทุน เหล่านี้เหมือนนักเสี่ยงโชค ที่ได้ก็ดี ไม่ได้ก็กลับไปตั้งหลักเลียแผลแล้วมาใหม่ จะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นกับของหรือบุญเก่าที่สะสมมาเท่านั้นเอง

หมายเหตุ
* การลงทุนที่ปลอดภัยไม่ได้หมายความว่าให้หลีกเลี่ยงตลาดหุ้น การลงทุนในหุ้นเป็นได้ทั้งการลงทุนที่เสี่ยงและปลอดภัย ขึ้นกับว่านักลงทุนซื้อหุ้นอะไร เวลาใด ราคาเท่าไร ในทางกลับกัน การลงทุนในตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ผิดตัว ผิดที่ ผิดเวลา ก็เสี่ยงมากได้เช่นกัน

แล้วเพื่อนๆ ล่ะครับ อยู่ในส่วนไหนของนักลงทุน 4 แบบนี้