วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

 

วัตถุประสงค์หลักของธุรกิจนอกจากตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการลูกค้า มุมต่างๆแล้วการทำกำไรก็เป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญทางธุรกิจด้วย และเมื่อมีการทำกำไรก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายภาษีตามมาแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรแล้ว
กำไรที่ธุรกิจจะต้องนำมาคำนวณภาษี ก็คือรายได้ลบรายจ่ายของธุรกิจนั้น อย่างไรก็ตามในการทำธุรกิจกลเม็ดหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้ธุรกิจมีกำไรสุทธิสูงขึ้นได้ก็คือการวางแผนทางภาษี (ตรงจุดนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าการวางแผนทางภาษีเป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยเปิดเผยและถูกกฎหมายทุกประการซึ่งแตกต่างจากการเลี่ยงภาษีมากมาย)

คำสงสัยจากนักลงทุน


เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีซึ่งคำนวณจากกำไรก่อนหักภาษีก็มีคำถามจากเพื่อนนักลงทุนรุ่นน้องว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วบริษัทจะสามารถนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อสินทรัพย์ เช่น หุ้นของบริษัทอื่น ที่ดินเปล่า หรืออาคารต่างๆ มีผลทำให้เงินกำไรส่วนที่เหลือน้อยลงเพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยลงได้หรือไม่ ฟังดูเผินๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าควรจะทำได้หรือไม่ เพราะเงินไปซื้อสิ่งต่างๆ ก็นำไปใช้ตามนั้นจริงๆ ไม่ได้หายไปไหน ของที่ซื้อก็ยังอยู่มาเป็นสินทรัพย์ของบริษัท แล้วมันอย่างไรกันแน่

รายจ่ายที่ไม่สามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายได้


เมื่อคิดอีกด้านหนึ่ง ถ้าการทำเช่นนั้นสามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรก่อนหักภาษีได้แล้วล่ะก็ ทุกบริษัทหรือทุกธุรกิจก็คงเลือกที่จะทำเช่นนั้นกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ มีการระบุไว้ชัดเจนว่า "รายจ่ายต้องห้ามที่ไม่สามารถถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้"

มีรายจ่ายที่ไม่สามารถถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หลายอย่างมาก เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทต่างๆ รายจ่ายเหล่านี้เช่น รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้1 รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เป็นรายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเป็นการถาวรต่อกิจการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งให้ประโยชน์แก่กิจการเป็นระยะเวลานานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น
  1. รายจ่ายที่ทำให้กิจการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เช่น การนำเงินไปซื้อที่ดินทิ้งเอาไว้  การซื้อหุ้นของบริษัทอื่น
  2. รายจ่ายใดทำให้กิจการได้รับประโยชน์เกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เช่นการต่อเติมอาคารโดยไม่ใช่การซ่อมแซมตามปกติ
พวกนี้ไม่สามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่จะทำให้กำไรก่อนคำนวณภาษีลดน้อยลงได้ (แต่ถ้าเป็นการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม จะถือว่าเป็นรายจ่ายปกติในธุรกิจ)

ดังนั้น บริษัทที่ดีจะต้องวางแผนเหล่านี้ให้ดี เพราะถึงแม้การซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานนานหลายปีจะไม่สามารถคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อทำให้ภาษีลดลงได้ แต่ขณะที่ใช้งานเครื่องจักรไปก็มี ค่าเสื่อมราคา ที่สามารถนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาษีได้ ดังนั้นถ้าเรายอมให้มีการนำเงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักรครั้งแรกไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายแล้วยังนำค่าเสื่อมราคามาเป็นค่าใช้จ่ายอีกก็จะเป็นการคิดซ้ำซ้อนและไม่ยุติธรรมต่อการคิดภาษีนั่นเอง

1 ขอให้เพื่อนนักลงทุนตรวจสอบในประมวลรัษฎากรฉบับปัจจุบันเพื่อความแม่นยำอีกครั้งหนึ่ง