ผมเชื่อว่านักลงทุน (ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจริงๆ หรือเก็งกำไร ก็ขอเรียกรวมๆ ก็แล้วกันนะครับ) หลายคนที่เมื่อเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ มีแนวทางที่แน่นอนว่าอยากเป็นนักลงทุนแนวใด แนวเก็งกำไรผลประกอบการ สายเทคนิค แนวพื้นฐาน หรือสายวีไอ หรือแม้แต่ผสมๆ กันบ้าง แต่อีกหลายส่วนเมื่อเข้ามาแล้วยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดอะไรถ้าเขาสามารถจำกัดความเสียหายของเงินลงทุน (เพื่อเรียนรู้) ได้ หรือยอมรับในความเสียหายในส่วนที่กันออกมาเสียหายนั้นได้ แต่หลังจากระยะเวลาหนึ่งผ่านไป เขาก็ควรจะ "รู้ทาง" ของตัวเองว่าทำอย่างไร แนวใด จึงได้กำไรมากกว่าขาดทุน สำหรับนักลงทุนที่เป็นแนวเก็งกำไรรายวัน (หรือรายใดๆ ก็ตามถนัด) ก็เก็งกำไรไป ถ้าเป็นแนวพื้นฐาน ก็จงตั้งมั่นกับพื้นฐาน อย่านำมาปะปนกัน ไม่ใช่ว่าตอนแรกต้องการเก็งกำไร ซื้อเพราะหุ้นกำลังวิ่ง (ส่วนมากราคาเกินพื้นฐาน) แต่พอขายไม่ทัน ขาดทุนในพอร์ต กลับบอกว่าพื้นฐานบริษัทดี เก็บตัวแดงๆ ไว้ในพอร์ตเต็มไปหมด อย่างนี้ไม่ถูกเรื่อง
แนวการลงทุนที่อาจจะเรียกได้ว่าถูกดัดแปลงเพิ่มเติมจากแนวพื้นฐานปกติก็คือ การลงทุนแนวเน้นมูลค่า (Value Investment) หรือ VI โดยสิ่งสำคัญคือนักลงทุน VI สามารถคำนวณว่าราคาเหมาะสมของบริษัท (และต่อหุ้น โดยการนำเอาหุ้นทั้งหมดไปหาร) ออกมาได้ว่ามีค่า
- เท่าไร
- เมื่อใด กรอบเวลาไหน อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เมื่อไร
- มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
- คนอื่นเห็นเหมือนที่เราเห็นไหม
- คนอื่นกลัวหรือกังวลอะไรไหม
จากนั้นวางแผนว่า จะซื้อ จะขาย อย่างไร (แน่นอนครับ ต้องมีแผนนะ ไม่ใช่หลับตาซื้ออย่างเดียวหรอก)
อีกอย่างผมเห็นเสมอกับการถามว่าพรุ่งนี้ ตัวนี้ ตัวนั้น จะขึ้น จะลงไหม ไม่มีใครรู้หรอกครับ ยกเว้นเจ้ามือ กับหมอดู ซึ่งก็เหมือนกับคำถามว่าราคาจะไปถึงไหน ก็ไม่มีใครทราบอีกเหมือนกันนั่นแหละ ยกเว้นคนที่มีทั้งหุ้นและเงินอยู่ในมือมากพอที่จะกำหนดทิศทางของราคาได้ แต่เมื่อทำไปแล้วเขาจะได้กำไรไหมนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งส่วนมากแล้วเราคงไม่สามารถไปรู้ได้หรอกครับ
กับคำถามเรื่องราคาจะไปถึงไหนนั้น VI เก่งๆ เราไม่สนใจหรอกครับว่ามันจะไปไหน เพียงแต่รู้ว่าเราอมของ (ถือหุ้น) ที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของมันไว้ในมือ (จุดสำคัญตรงนี้คือเราต้องรู้ว่า “ค่า” ของมันเป็นอย่างไร อ่านวิชาที่สอง) แล้วก็หาทางลดความเสี่ยงลงให้มากที่สุด สุดท้ายจะได้กำไรเอง ส่วนราคาจะไปไหนไหม เราจะเฝ้าดูว่าเมื่อไรตลาดจะเห็นแบบที่เราเห็นล่วงหน้ามานานแล้วนั่นเอง
กับการลงทุนอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ก็เหมือนกัน ก็เอาแนวคิดแบบ VI ไปใช้ได้เช่นกันครับ