วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การกระจายความเสี่ยง


การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีข้อดีหลายอย่าง นอกจากเราสามารถซื้อธุรกิจที่ดำเนินการมายาวนานและมีผลการดำเนินงานใบอดีตที่ผ่านมาว่าได้กำไร ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงลดลงแล้ว เรายังสามารถใช้เงินจำนวนน้อยในการลงทุนกับหลายบริษัทได้  เพราะถ้าเรานำเงินจำนวนเดียวกันนั้นไปทำธุรกิจส่วนตัว (เช่น 5 ถึง 10 ล้านบาท) เราก็คงไม่สามารถทำสามหรือสี่ธุรกิจได้เนื่องจากเงินไม่พอ ปัญหาที่หนักไปกว่าเรื่องของเงินก็คือการไม่สามารถบริหารงานหลายบริษัทนั้นได้ การเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เราสามารถใช้เงินจำนวนน้อยเพื่อซื้อหุ้นของหลายบริษัทได้นั้นจึงเป็น ทางเลือกที่ดีและเป็น ที่มาของคำว่า “การกระจายความเสี่ยง”

การกระจายความเสี่ยงจริงหรือ

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าการที่เราซื้อหุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการกระจายความเสี่ยงเสมอไป ลองคิดดูในกรณีที่นักลงทุนซื้อหุ้น ของหลายบริษัทแต่หลายบริษัทเหล่านั้นอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทเหล่านั้นอาจจะเป็นคู่แข่งกันและกันเองก็ได้ และเมื่อสภาพการแวดล้อมเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค วัฏจักรเศรษฐกิจ วัฏจักรของสินค้าชนิดนั้น หรือแม้กระทั่งกฎหมายและการเมืองเปลี่ยนไป ธุรกิจในกลุ่มนั้นอาจจะแย่ลงทั้งกลุ่มก็เป็นได้ แบบนี้ก็คงไม่ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีนัก  ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่ดีก็คือควรจะมีหุ้นของหลายบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างกัน อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรจะมีหุ้นจำนวนหลายบริษัทมากเกินไปเนื่องจากจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก (อ่านเรื่อง เบี้ยหัวแตก ประกอบ)

การกระจายความเสี่ยงจริงๆ

ที่จริงแล้ว ชีวิตคนเรามีหลายแง่มุม มีหลายทางเลือก การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นที่ว่าเราจะต้องลงทุนกับเฉพาะหุ้นเท่านั้น จริงอยู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับหุ้นสามัญเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ใช้เงินไม่มากนัก มีโอกาสสำเร็จไม่ยาก (แต่ผมไม่ได้บอกว่าง่ายนะ และต้องใช้เวลา) และสามารถกระจายความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งอย่างไรก็ตามมันก็ยังเป็นหุ้นอยู่นั่นเอง เมื่อเราลงทุนจนมี Equity หรือส่วนของเจ้าของ ส่วนที่เป็นของเราเองจริงๆ (ผมไม่ใช้คำว่าทรัพย์สิน เนื่องจากผมเองคุ้นเคยกับงบดุลการเงินทางบัญชีที่ ทรัพย์สิน = ส่วนของเจ้าของ + หนี้สิน ดังนั้นถ้าเราพูดถึงคำว่าทรัพย์สินมันอาจจะไม่ใช่ของของเราก็ได้แต่เป็นส่วนที่เกิดจากหนี้สินที่เรากู้หนี้ยืมสินคนอื่นเขามาก็ได้) ในระดับที่มีทางเลือกได้มากขึ้น เช่น ซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ซื้อโลหะมีค่า หรือเพชรทองได้ ก็ควรมองหาการลงทุนเหล่านี้ด้วย โดยนักลงทุนแต่ละคนก็อาจจะทำตามถนัด  บางคนที่มีความสามารถในการซื้อลงทุนเพื่อเก็งกำไรในเครื่องประดับบางอย่างเช่นนาฬิกาหรูก็อาจจะลงทุนในด้านนั้น  บางคนอาจจะมีความสามารถพิเศษในการลงทุนกับเพชรพลอยก็เป็นทางเลือกที่เหมาะของเขา บางคนอาจจะลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่าเพื่อการเก็งกำไร กรณีนี้ถ้ามีความรู้เรื่องผังเมืองหรือการขยายตัวของเมือง หรือถนนหนทางต่างๆ ก็จะได้เปรียบค่อนข้างมาก บางคนอาจจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถให้เช่าได้หรือดีกว่านั้นก็มีมูลค่าเพิ่มในตัวมันเองด้วยในขณะที่ค่าเช่าเป็นกระแสเงินสดไหลเข้ามาก็เป็นทางเลือกที่ไม่น่ามองข้ามเช่นกัน

เป็นอย่างไรบ้างครับหลังจากอ่านเรื่องนี้แล้วเพื่อนเพื่อนนักลงทุนก็น่าจะมีมุมมองที่กว้างขึ้นในการกระจายความเสี่ยงและสามารถนำไปใช้วางแผนในการลงทุนของตัวเองได้ดีขึ้นนะครับ