วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ฝึกนิสัยขายตัดขาดทุนด้วยการซื้อหุ้นแพงๆ


ปกติแล้วนักลงทุนแบบ VI คือนักลงทุนที่เน้นในมูลค่าของกิจการ คือซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงในราคาต่ำกว่ามูลค่านั้น และรอให้ผู้คนในตลาดเห็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่นั้นและราคาเพิ่มขึ้นไปเอง (ทำให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นว่าจะถือต่อ ถือรับปันผล หรือขายทำกำไรออกไปหากราคาสูงเกินมูลค่าไปแล้ว)  การคำนวณมูลค่ามีหลายวิธีตามที่เคยเล่ามาในบทอื่นๆ ซึ่งสิ่งสำคัญคืออาจจะมีการคาดการณ์อนาคตปนอยู่ด้วยไม่น้อย นั่นทำให้ความแม่นยำในการคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของกิจการขึ้นกับความสามารถในการคาดการณ์ของนักลงทุนผู้คำนวณด้วย

หลุมที่รออยู่สำหรับนักลงทุน VI

ด้วยความที่นักลงทุนแบบ VI ลงทุนด้วยการคำนวณมูลค่าของกิจการก่อนการลงทุน บางครั้งเราต้องรอเป็นเวลานาน นานมาก หรือนานเกินไปกว่าผู้อื่นจะเห็นค่าในสิ่งที่เราได้คำนวณเอาไว้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือมีความเป็นไปได้ที่เราจะคำนวณผิด! คือคาดการณ์สิ่งต่างๆ ผิดไป ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวต่ำลงไปมากเป็นเวลานาน (หลายๆ ครั้งก็ช่างนานเกินไปอีก) ในขณะที่เราเองก็ทนถือ ทนดูหุ้นปรับราคาลดลงๆ ไปเรื่อยๆ เพราะความที่มั่นใจว่าเราวิเคราะห์ดีแล้ว ทำให้เราขาดโอกาสในการลงทุนอื่น หรือแม้แต่โอกาสในการลงทุนหุ้นของบริษัทนั้นเองด้วยเงินจำนวนเดียวกันแต่สามารถซื้อหุ้นได้มากขึ้น 

ลองซื้อหุ้นแพงกัน

หุ้นแพงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหุ้นราคา 500 หรือ 1,000 บาท แต่อาจจะเป็นหุ้นราคา 2 บาทก็ได้แต่อาจจะเป็นบริษัทที่ยังไม่มีกำไร หรือ กำไรน้อยมากจนทำให้คำนวณ P/E ได้ประมาณ 50-100 (ปี  อย่าลืมว่า P/E มีหน่วยเป็นปี) คือลงทุนกัน 50-100 ปีนั่นแหละถึงจะคุ้มทุน หลายครั้งเป็นที่น่าแปลกใจและน่าสนใจพร้อมๆ กันจนแม้แต่นักลงทุนแนว VI ยังต้องเข้าไปดูว่าทำไมถึงได้รับความนิยมในการซื้อขายนัก  ซึ่งหลายบริษัทก็น่าสนใจจริงๆ นั่นแหละเพราะอาจจะถูกคาดหมายว่ากำไรจะฟื้นตัวกลับทำกำไรได้  แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจอยากลองทำกันในตอนนี้ 

แล้วทำไมชวนให้ซื้อหุ้นแพง

นักลงทุนที่ตามอ่านอย่าเพิ่งสับสนว่า แล้วอยู่ดีๆ ทำไมชวนให้ซื้อหุ้นแพงซะอย่างนั้น คือโดยทั่วไป (เน้นว่าโดยทั่วไปนะครับ) ถ้าเราไม่ได้มีข้อมูลอันค่อนข้างแน่นอนและมั่นใจได้ นักลงทุนแนว VI จะมองว่าการซื้อหุ้นแพงนั้นเป็นการเก็งกำไรมากกว่าการลงทุน และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทนถือหุ้นแพงๆ เลยถ้ามันขาดทุนอยู่ในพอร์ต   ในการชวนให้ลองซื้อหุ้นแพงนี้เราจะไม่วิเคราะห์พื้นฐาน เรียกว่าดูแต่ราคา แนวโน้ม การซื้อขายต่างๆ เท่านั้น โดยพยายามซื้อหุ้นที่กำลังมีราคาสูงขึ้นๆ เป็นหลัก  ซึ่งย่อมมีทั้งการที่เรา เดาถูก และเดาผิด (ตรงนี้ ใช้คำว่าเดา หรือ ดู ก็ได้นะครับ พอกันนั่นแหละ)

คัทลอส

บทเรียนแรกๆ ของการลงทุนคือการคัทลอสที่เรามักจะทำกันไม่ได้นี่แหละครับ คือเหตุผลที่แนะนำให้ซื้อหุ้นแพง เพราะอย่างที่บอกว่าในเมื่อเราก็ไม่ได้วิเคราะห์อะไร ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะถือหุ้น P/E ระดับ 50-100 เป็นเวลานานๆ เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าหุ้นไม่ขึ้นมันก็ลง แล้วมันก็สามารถลงไปได้มาก (หุ้นเหล่านี้ก็มักไม่จ่ายปันผลอีก) และเมื่อลงไปแล้วก็ไม่รู้ได้อีกว่าเมื่อไรมันจะกลับขึ้นมา ดังนั้นถ้าเราเกิดขาดทุนขึ้นมา (ลองจำกัดไว้ที่ 1-3%) ก็ไม่ต้องคิดเลย "ขายตัดขาดทุน" ออกไปก่อน 

มันคือการฝึกนิสัย

เพื่อนนักลงทุนคงคิดในใจว่า อยู่ดีๆ มาชวนให้เสียเงินซะแล้ว ใช่ครับและใช่มากด้วยแต่เป็นการ เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ไงครับ เราฝึกตัวเองให้เสียหายเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้ (อาจจะ 100 - 1,000 บาท) ย่อมดีกว่าวันหน้าเราเสียหายนับแสนหรือล้านบาท โดยในการซื้อเพื่อทดลองนี้ก็อย่าซื้อมาก คำนวณให้ได้ว่าถ้าขาดทุน 1-3% ที่ว่าจะเป็นเงินไม่มากนัก การหัดทำเช่นนี้เป็นการ ฝึกนิสัย ว่าเมื่อเราซื้อหุ้นที่กำลังปรับตัวลงเราต้องขายตัดขาดทุนออกไปก่อนเสมอ และยิ่งถ้าเราเห็นว่าหลังจากที่เราขายตัดขาดทุนออกไปแล้ว หุ้นปรับตัวต่ำลงไปเรื่อยๆ เราจะยิ่งดีใจว่าเราตัดสินใจถูก นิสัยการขายตัดขาดทุนจะยิ่งฝังลงไปในใจเรามากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ถ้าหุ้นปรับตัวขึ้น เราจะลองซื้อกลับดูก็ได้ ก็เป็นการฝึกนิสัยการกัดจิก เอ๊ย! การตามเก็บหุ้นนั้นได้ด้วย (นิสัยทั้งสองนี้สำคัญเท่าๆ กัน แต่ไว้คุยกันในตอนหน้าครับ) 

สรุป

สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการขายตัดขาดทุนสำหรับนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI คือเรามั่นใจในสิ่งที่เราวิเคราะห์มา ซึ่งหลายครั้งไม่ได้ผิด แต่ถ้าเราขายตัดขาดทุนเป็นจะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในการได้หุ้นที่ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการจำกัดความเสียหายเมื่อเราคาดการณ์หรือคำนวณผิดด้วย   วิธีหนึ่งในการฝึกนิสัยนี้คือ ทดลองซื้อหุ้นที่เรารู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะถือถ้าหากขาดทุน และเห็นว่าการตัดสินใจนั้นถูกต้องบ่อยๆ เราจะได้นิสัยที่ดีนี้ติดตัวต่อไป

ทดลองทำ

ลองหาหุ้นของบริษัทที่มีปริมาณการซื้อขายพอสมควร (เช่นวันละ 5 ล้านบาทขึ้นไป) และมี P/E 50-100 ที่มีแนวโน้มว่าราคาน่าจะกำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยไม่วิเคราะห์พื้นฐานใดๆ (นอกจากแนวโน้มราคา) โดยทดลองซื้อในปริมาณน้อยๆ (เช่น 5000 - 10,000 บาท) และตั้งจุดขายตัดขาดทุนไว้ที่ 1-3% ซึ่งเป็นเงินราว 50-300 บาท (หรืออาจจะลองด้วยเงินน้อยกว่านั้นก็ไม่ว่ากันนะครับ)   ถ้าได้กำไรสัก 3-5% ก็ลองขายออกทำกำไรไป (ห้ามโลภซื้อมากเพื่อหวังได้กำไรมากเพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำกันตอนนี้) แต่ถ้าขาดทุนก็ให้ขายตัดขาดทุนออกไปเลยเพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะถือหุ้นที่แพงมากๆ และมีโอกาสปรับตัวลงได้มากๆ เอาไว้  ฝึกการขายตัดขาดทุนจำนวนเงินน้อยๆ ให้เป็นนิสัย เงินที่เสียไปถือเป็นค่าเล่าเรียนเพื่อรักษาเงินที่มากกว่าไว้ในอนาคต

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เกือบจะอย่างเดียวที่เราควบคุมได้คือขาดทุนเท่าไร

แหม ชื่อเรื่องไม่น่าอ่านเอาเสียเลย แต่เชื่อเถอะครับว่าเป็นเรื่องดี เพราะในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์นั้น การขาดทุนเท่าไร หรือ ขาดทุนได้เท่าไรนั้นสำคัญเป็นเรื่องแรกเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ใครๆ เมื่อลงทุนแล้วก็คงไม่อยากขาดทุน  แม้ว่าการลงทุนโดยหลักการเน้นมูลค่าของกิจการหรือ VI (Value Investment) นั้นเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดี มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยที่เราได้คำนวณไว้ แต่อย่างไรก็ตามเราไม่มีทางรู้อนาคตได้ มูลค่าของบริษัทที่เราคำนวณเอาไว้ก็ได้มาจากการอนุมานต่างๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นรายได้ รายจ่าย การเติบโตของบริษัท และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ (จะพลาดมากหรือน้อยนี่ล่ะครับคือฝีมือในการลงทุนด้วย  คนที่คาดการณ์ได้แม่นยำกว่าจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า) 

ราคาหุ้นที่ขึ้นลง

ในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องถือว่าตัวเองไม่มีความสามารถควบคุมราคาหุ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือ ซื้อ หรือ ขาย หุ้นอะไร จำนวนเท่าไร ในราคาตลาด ณ เวลานั้นๆ เท่านั้นเอง เนื่องจากเวลาที่เราซื้อหุ้น ส่วนมากแล้วถ้าไม่ขาดทุนก็จะได้กำไรนั่น เพราะราคาหุ้นมักไม่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ เรียกว่าถ้าเราเลือกหุ้นและราคาที่เข้าซื้อว่าถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง (มากพอสมควรคือมี Margin Of Safety หรือส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยพอควร) และไม่ปล่อยให้ตัวเองขาดทุนมากในการซื้อแต่ละครั้ง เมื่อเราลงทุนซ้ำไปหลายครั้งเรามักจะได้กำไรในที่สุด  

ที่จริงแล้วเราเลือกอะไรได้

นอกจากหุ้นอะไร จำนวนเท่าไรที่เราจะซื้อหรือขายในราคาตลาดแล้ว เราลองคิดเล่นๆ ว่าเราควบคุมอะไรได้บ้าง เราจะควบคุมราคาขายให้สูงขึ้นมากๆ แล้วเราได้กำไรมากๆ ได้ไหม คำตอบของคำถามนี้คงเป็น "ไม่ได้" แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อหุ้นแล้วหุ้นกลับลดราคาลงมาเรื่อยๆ เราจะควบคุมการขาดทุนของเราได้ไหมว่าไม่เกินร้อยละเท่าไร คำตอบตรงนี้คือ "ได้" จริงๆ แล้วแทบจะเป็นอย่างเดียวเลยที่เราควบคุมได้นั่นแหละ แต่การขายตัดขาดทุนไปก่อนในกรณีของการลงทุนแนวเน้นมูลค่านี้ไม่ได้หมายความว่าขายแล้วเราหนีจากหุ้นที่อุตส่าห์วิเคราะห์มาแล้วนั้นไปเลย แต่เป็นการขายเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อเพิ่มเมื่อราคาลดต่ำลงไปกว่าราคาที่เราขายตัดขาดทุนไป ซึ่งเราจะได้หุ้นจำนวนมากขึ้นเมื่อใช้เงินเท่าเดิมนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อพูดถึงสิ่งที่ควบคุมได้แทบจะเพียงอย่างเดียวคือ การจะยอมขาดทุนเท่าไร เราก็ต้องเลือกซื้อของที่เรามีโอกาสที่จะควบคุมได้ด้วย หุ้นหลายตัวมีลักษณะราคาที่โดดไปมา มีการทำราคาขึ้นลงมากๆ ในแต่ละวันหรือหลายวันติดต่อกัน หรือมีลักษณะราคาไม่ต่อเนื่องคือ เปิดปิดกระโดดขึ้นลงไปมา (ขึ้นน่ะไม่เท่าไร แต่ถ้าโดดลงมากๆ ทีเดียวเราจะขายตัดขาดทุนแล้วเสียหายมาก) หุ้นของบริษัทแบบดังกล่าว ถ้าไม่จำเป็นก็เลี่ยงๆ ไว้จะดีกว่า 

สรุป

ราคาหุ้นมักไม่อยู่นิ่ง ถ้าเราเลือกหุ้นได้ดีและไม่ยอมขาดทุนเป็นจำนวนมากแล้ว ในที่สุดเรามักได้กำไร ในการลงทุนนอกจากเรามีสิทธิเลือกว่าจะ ซื้อ ขาย หุ้นอะไร จำนวนเท่าไร  เราควบคุมราคาหุ้นในตลาดและกำไรของเราไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันสิ่งเดียวที่เราดูว่าจะสามารถควบคุมได้ก็คือ เราจะขาดทุนไม่เกินเท่าไร  ในการซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งๆ ควรซื้อแต่น้อยก่อนในช่วงแรก ถ้าขาดทุน (แต่ละคน แต่ละหุ้น ตัวเลขนี้ไม่เท่ากัน แต่ปกติคิอ 2-5%) ให้หยุดซื้อและขายตัดขาดทุนออกไปก่อน แล้วตามไปซื้อที่ราคาต่ำลงนั่นเอง

ทดลองทำ

ลองเลือกหุ้นสักหนึ่งบริษัท แล้วประเมินว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันแล้วยังมีโอกาสจะได้กำไร (upside gain) เท่าไร จากนั้นลองวางแผนว่าจากเงิน 100 ส่วนจะซื้อกี่ส่วนก่อน และถ้าหุ้นปรับตัวลงมาเป็นขาดทุนเท่าไรจะขายออกไปก่อนแล้วตามลงไปซื้ออีกครั้งเมื่อหุ้นหยุดการปรับราคาลงอย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

อย่าคาดการณ์ราคาหุ้นในระยะสั้น


จะว่าไปแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่อง อย่าคาดเดาดัชนี ที่เคยเขียนไว้แล้ว แต่ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ก็มีที่มาจากราคาหุ้นแต่ละตัวแต่เป็นการคำนวณแบบเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เรียกว่าถ้าหุ้นตัวใหญ่ มีขนาดตลาด (Market Capital คือถ้าเราจะซื้อบริษัทนั้นทั้งบริษัทมาเป็นของเราคนเดียวจะใช้เงินเท่าไร ซึ่งถ้าจะทำกันจริงๆ คือเอาราคาต่อหุ้นในตลาดคูณกับหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่อยู่ในมือนักลงทุนประเภทต่างๆ - นั่นคือไม่รวม Treasury Stock หรือหุ้นที่ถูกซื้อคืนโดยบริษัทนั้นเอง แต่การคิดขนาดตลาดโดยประมาณแล้วก็อาจจะไม่คิดละเอียดขนาดนั้นก็ได้) ใหญ่แล้วเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็จะทำให้ดัชนีเปลี่ยนไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นของบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า 

ราคาหุ้นในระยะสั้น

ในระยะสั้นแล้วสภาพการณ์ของตลาดหรือราคาหุ้นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นถือว่าเปราะบางมาก เป็นเพราะว่าขนาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเล็ก ปริมาณการซื้อขายน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเช่นฮ่องกงหรือไต้หวัน การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนนักลงทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่รายย่อยที่เข้าซื้อขายหุ้นบางตัวเป็นการเฉพาะ (ภาษาเรียกกันขำๆ คือหุ้นเม่าเข้า - ซึ่งทำเป็นเล่นไปนะครับ คนที่แกล้งเรียกตัวเองว่าเม่าเนี่ยเห็นมาหลายรายแล้วเงินหนาแถมยังได้กำไรบ่อยก็มี) จึงทำให้มีผลต่อ ราคาหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาก  การมีข่าวหรือเล็กน้อยก็ทำให้ราคาของหุ้นบางตัวเปลี่ยนไปมากทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วนักลงทุนก็ทราบได้ว่าในระยะยาวแล้วนั้นไม่ว่าข่าวลือจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตามก็ไม่ได้มีผลอะไรกับสภาพการทำงานของธุรกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยทั่วไปนัก  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเวลาหุ้นลงหุ้นก็ลงตามๆ กัน พอเวลาหุ้นขึ้น หุ้นก็ขึ้นพร้อมๆ กันเรียกว่าคนต่างช่วยกันซื้อขายในทางเดียวกัน จริงๆ แล้วดูไปก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านักลงทุนแต่ละกลุ่มใช้อะไรในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นกันแน่ บางกลุ่มก็ซื้อๆ ขายๆ เอาสนุกกันไปจนราคาป่วนไปหมดก็มี  ราคาหุ้นในระยะสั้น (ระยะต่ำกว่า สองไตรมาส) จึงคาดการณ์แทบไม่ได้เลย 

แล้วอะไรที่เราพอจะคาดการณ์ได้
  • ผลประกอบการของหลายบริษัท สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้สามารถคำนวณรมูลค่าของบริษัทได้
  • การเกิดวิกฤติต่างๆ คาดได้ว่าดัชนีโดยรวมมักตกต่ำลงมา แต่นั่นต้องเป็นกรอบเวลาที่กว้างขึ้น มีวิกฤติอยู่นานพอสมควรเช่น 1-2 ปี  ถ้าวิกฤติเป็นข่าวระยะสั้นๆ ดัชนีมักสะเทือนบ้างแล้วขยับกลับที่เดิม 
  • เมื่อใกล้สิ้นสุดวิกฤติ ซึ่งเป็นเวลาที่ราคาหุ้นต่างๆ ตกต่ำลงไปมากแล้ว ก็มักเป็นเวลาที่ราคาหุ้นจะปรับกลับไป อาจจะถึงระดับปกติหรือไม่ก็ได้ (ส่วนมากจะไม่) ทั้งๆ ที่ผลประกอบการยังอาจจะแย่อยู่
  • หุ้นหลาายบริษัทที่ปรับตัวลงไปอาจจะยังมีผลประกอบการที่ดีในช่วงวิกฤติด้วยซ้ำ อาจจะเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะเลือกหุ้นดีๆ ผลตอบแทนสูง (ทั้งปันผลและกำไรจากส่วนต่างของราคา) เข้าพอร์ตได้ (ดูเรื่อง วิกฤติช่วยเลือกหุ้น ประกอบ) 
  • ในระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นจะเป็นไปตามผลประกอบการเสมอ (อาจจะมีความคาดหวัง และความเชื่อเข้ามาปนบ้าง แต่มีอิทธิพลน้อยกว่า)
ทดลองทำ

ลองกลับไปดูการเปลี่ยนแปลงของดัชนี และราคาหุ้นของบริษัทที่เราสนใจในช่วงวิกฤติต่างๆ ทั้งต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ โควิด-19 เน้นที่ก่อนเข้าวิกฤติและกำลังจะออกและออกจากวิกฤติมาแล้ว  ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร ประวัติศาสตร์มันมักจะซ้ำรอยเดิมเสมอ 

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

วีไอกับเทคนิคอล


โดยพื้นฐานของการลงทุนแล้วมักจะแบ่งออกได้เป็นสามประเภทคือ ลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)  ลงทุนด้วยข้อมูลเชิงเทคนิค (Technical) และการลงทุนแบบเน้นมูลค่า (Value Investment) ซึ่งที่จริงก็อาจจะมีแบบแนวอื่นอีกแต่ไม่เป็นที่รู้จักนัก   ที่จริงการลงทุนแบบเน้นมูลค่านั้นจะเรียกว่าเป็นการเจริญพันธุ์ออกมาจากแนวปัจจัยพื้นฐานก็ได้ (ถ้าปัจจัยพื้นฐานของกิจการที่จะลงทุนไม่ดีเสียแล้ว การจะหามูลค่าออกมาคงทำได้ยาก หรือไม่ก็ได้ค่าต่ำต้อยจนไม่น่าสนใจที่จะลงทุน)  หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วนักลงทุนแบบเน้นมูลค่าหรือวีไอ (VI - Value Investment) นั้นใช้เทคนิคอล (Technical) ในการลงทุนหรือไม่ ซึ่งน่าสนใจจะคุยกันไม่น้อยครับ 

เพราะจะพูดไปแล้ว การลงทุนในแนวเน้นมูลค่าของบริษัท ก็มีหลักการคำนวณราคาที่เหมาะสมของตัวเอง อาจจะใช้ P/E (Price per Earning ratio หรืออัตราส่วนระหว่างราคาต่อรายได้ต่อปี ผลการคำนวณคือการ) หรือ PEG (คือนำ P/E ของหุ้นมาหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรปกติต่อหุ้นต่อปี ยิ่งมีค่าต่ำกว่า 1 เท่าไรยิ่งดี) หรือ DDM (Dividend Discount Model คือการคิดรวมเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต และคิดลดมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน) หรือ DCF (Discounted Cash Flow หรือการคำนวณกระแสเงินสดอิสระที่จะทำได้ในแต่ละปีแล้วคิดลดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน) นี่ยังไม่หมดนะ เพราะนักลงทุนแต่ละคนอาจจะมีเทคนิคเฉพาะตัวอื่นๆ ได้อีก

ทำไมเทคนิคอลจึงน่าสนใจด้วย

ถ้าพูดถึงนักลงทุนในแนวเทคนิคแล้ว เขาจะดูการเปลี่ยนแปลงของราคา ปริมาณการซื้อขาย และช่วงเวลาที่เกิดราคาและปริมาณการซื้อขายนั้นเป็นหลัก เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจว่าควรซื้อหรือขายหุ้นตัวใดเมื่อไร เรียกว่าไม่ต้องดูผลประกอบการใดๆ กันเลย เพราะเชื่อว่าทั้งผลการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตจะถูกสะท้อนออกมาในราคาหุ้นแล้ว  โดยพื้นฐานแล้ววิธีทางเทคนิคเป็นการใช้หลักสถิติและการพยากรณ์ มีตัวชี้ (indicator) ต่างๆ เช่น MACD, RSI, SD, Stochastic oscillator, Fibonacci retracement, เส้นเฉลี่ยสารพัดวันต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย (เริ่มรู้สึกว่ายากกว่าสาย VI ในการประเมินมูลค่าหุ้นเสียแล้วสิ) แล้วตัดสินใจลงทุนไปตามที่ตัวชี้วัดต่างๆ เหล่านั้นบอกเรา 

สิ่งที่มักเกิดกับเทคนิคอล

โดยส่วนตัวแล้ว ปัญหาใหญ่หนึ่งของบรรดาตัวชี้วัดทั้งหลายมักจะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไร เช่น สองตัวนี้บอกให้ซื้อ แต่อีกตัวบอกให้ขาย เสร็จแล้วพอเราซื้อหุ้นกลับลงก็ต้องคิดในใจว่าก็มีตัวหนึ่งบอกให้ขายยังไงล่ะ ทำไมไม่เชื่อ (อ้าว) หรือกลับข้างกันเช่น ตัวนี้บอกให้ซื้อ แต่อีกสองตัวบอกให้ขาย เสร็จแล้วพอเราขายหุ้นกลับขึ้นไปเรื่อย ก็ต้องคิดในใจว่าก็มีตัวหนึ่งบอกให้ซื้อยังไงล่ะ (อ้าว อีกที) เอาล่ะเป็นอันว่าเราผิดก็ได้ (ฮา...) 

โดยส่วนตัวแล้วดูอะไรในเทคนิคอล

โดยส่วนตัวแล้วถ้าจะให้เลือกมองราคา เวลา และปริมาณการซื้อขาย คงจะไม่ลงลึกไปถึงตัวเลขทางสถิติหรือตัวชี้ (indicator) ทั้งหลาย แต่จะดูแนวโน้ม (trend) กว้างๆ ของราคาว่ากำลังขึ้น ลง นิ่งๆ หรือไซด์เวย์ (เรียกว่าดูคร่าวๆ ด้วยสายตาเลย) และ ดูกราฟแบบแท่งเทียน (candlestick) บ้าง เพราะ ถ้าแนวโน้มราคากำลังลงเราก็น่าจะชะลอการซื้อไว้ก่อน  ส่วนกราฟแบบแท่งแทียนนั้นช่วยให้เห็นความเคลื่อนไหวในวัน สัปดาห์ และความน่าจะเป็นของราคาหุ้นในระยะสั้น ข้อดีอีกข้อหนึ่งของกราฟแท่งเทียนคือ เมื่อเราคาดการณ์ผิดพลาด แท่งเทียนจะบอกได้เร็วว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังแต่แรกและเกิดความเสียหายน้อยกว่า

สรุป

ดังนั้นแม้จะเป็นนักลงทุนแนวเน้นมูลค่าของกิจการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อหุ้นโดยไม่ดูสภาวะแวดล้อมเลย เพราะนอกจากเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแล้ว เราก็ยังอยากได้หุ้นที่ราคาต่ำเท่าที่จะทำได้ด้วย เพราะที่เงินเท่ากันเราจะได้หุ้นจำนวนมากกว่านั่นเอง

หัดทำ

ลองหาหุ้นที่สนใจ แล้วดูว่าแนวโน้มราคาของหุ้นนั้นอยู่ในช่วงใด ระหว่างกำลังขึ้น กำลังลง อยู่นิ่งๆ หรือ ไซด์เวย์ (ขึ้น หรือ ลง) และถ้าเราจะซื้อหุ้นนั้น เราควรรอหรือซื้อเลย หรือควรแบ่งซื้ออย่างไร เพื่อที่น่าจะได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ซื้อหุ้นตามราคาหรือเวลา

เวลาเราซื้ออะไรมาเพื่อขายไปสักอย่างหนึ่ง เราอาจจะให้ความสำคัญกับราคาขายเป็นหลักในของหลายๆ อย่าง พูดง่ายๆ คือซื้อมาเท่าไรไม่สำคัญเท่ากับว่าจะเอาไปขายที่ราคาเท่าไร การทำอย่างนั้นไม่ผิดและมีความเป็นไปได้สูงถ้าเราสามารถดัดแปลง แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของที่เราซื้อมาเพื่อที่จะขายในราคาสูงขึ้นได้ แต่กับหุ้นนั้นเราคงไปดัดแปลงหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้มันไม่ได้เพราะโดยทั่วไปเราก็ไม่ใช่ผู้บริหารหรือคนที่จะวางนโยบายของบริษัท (และไม่ใช่คนที่จะสร้างข่าวให้กับหุ้นนั้นเพื่อให้เกิดความนิยมและมีราคาสูงขึ้นจากอุปสงค์และอุปทาน) ดังนั้นในการซื้อหุ้นเพื่อให้ได้กำไรเรามักจะต้องพยายามซื้อเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของมัน และจะได้กำไรมากเมื่อซื้อโดยได้ต้นทุนที่ต่ำเท่าที่เราจะทำได้

การประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นว่ายากแล้ว แต่ความยากของการซื้อหุ้นให้ต้นทุนต่ำเท่าที่จะทำได้นี่แหละอาจจะยากกว่าก็ได้เพราะราคาหุ้นขึ้นกับของหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสั้นนั้นขึ้นกับอุปสงค์ อุปทาน และสภาพตลาดโดยทั่วไปเป็นหลักเลย 

ในตลาดหลักทรัพย์มีหุ้นมากมาย การขึ้นลงของราคาหุ้นต่างๆ จะถูกนำไปคำนวณดัชนีของตลาดแบบถ่วงน้ำหนักกับขนาดตลาด (Market Capital) ของบริษัทต่างๆ นั้น จะเห็นว่าที่จริงแล้ว ดัชนีของตลาดเป็น "ผล" จากการขึ้นหรือลงของราคาหุ้นต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดฯ นี้เองก็มีผลทางจิตวิทยาต่อราคาหุ้นทั้งหลายด้วย โดยเฉพาะเมื่อดัชนีปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเวลานาน (อาจจะไม่ลงทุกวันติดกัน แต่โดยแนวโน้มแล้วปรับตัวลง) ถ้าเป็นเช่นนี้ ราคาหุ้นโดยส่วนมากจะยากที่จะปรับตัวขึ้นสวนไปได้ (แต่ถ้ามี ก็น่าสนใจไปดูสักหน่อยนะครับ อาจจะพบของดีก็ได้) ถ้าหุ้นของบริษัทที่เราสนใจมักมีราคาปรับขึ้นลงไปตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์แล้วล่ะก็สิ่งที่ควรทำคือใจเย็นๆ และรอจนกระทั่งดัชนีปรับตัวลงจนสุดแล้วเริ่มปรับตัวขึ้นจึงค่อยเข้าไปเริ่มซื้อหุ้นก็ยังไม่สาย 

การซื้อตามราคา

แน่ล่ะ เมื่อเราจะซื้อของมันก็ต้องคุ้มค่า หรือราคาต่ำกว่าค่าของมัน ในกรณีของหุ้นก็คือเมื่อเราคำนวณราคาที่เหมาะสมของหุ้นไว้เรียบร้อยแล้วและเห็นว่าหุ้นของบริษัทนั้นราคาต่ำกว่าราคาเหมาะสมมากๆ (เช่น 30-50% ซึ่งส่วนต่างนี้เราเรียกว่า ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย หรือ Margin Of Safety) เราอาจคิดอยากจะลองเข้าไปซื้อได้ (จริงๆ แล้วยังมีเรื่องอื่นที่ต้องดูประกอบด้วยนะครับ เช่น  ลักษณะธุรกิจ ผู้บริหาร ธรรมาภิบาล เป็นต้น) แต่การเริ่มซื้อเราอาจจะต้องดูแนวโน้มของราคาสักนิดก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าราคายังอยู่แนวโน้มขาลงจะด้วยเพราะสภาพตลาดหรือความไม่นิยมในหุ้นนั้นชั่วคราว ก็คงต้องทำใจเย็นๆ รอจนราคานิ่งก่อนค่อยเข้าไปซื้อ และก็คงไม่ได้ซื้อทีเดียวให้ได้ตามจำนวนที่วางแผนไว้  สรุปง่ายๆ คือซื้อเมื่อ

  • ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และ
  • ราคาไม่อยู่ในแนวโน้มขาลง

การซื้อตามเวลา 

ที่จริงแล้วแนวคิดนี้มาจาก DCA หรือ Dollar Cost Average คือแบ่งซื้อหุ้นออกเป็นหลายครั้งด้วยเงินจำนวนเท่าๆ กัน เมื่อหุ้นมีราคาต่ำลงก็จะได้หุ้นจำนวนมากขึ้น และเมื่อหุ้นราคาสูงขึ้นก็จะได้หุ้นจำนวนน้อยลง (แต่ก็ดีที่หุ้นราคาสูงขึ้นจากที่เคยซื้อ) จากข้อที่แล้วแม้ว่าเราจะเห็นว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และราคาเริ่มนิ่งให้เข้าไปซื้อได้ เราก็คงไม่ซื้อหุ้นนั้นทั้งหมดตามงบประมาณที่วางไว้ในคราวเดียว แต่ต้องวางแผนเกณฑ์ส่วนตัวขึ้นว่าเราจะซื้อกี่ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันเท่าไร โดยทั่วไปแล้วอาจจะแบ่งออกเป็น 5-10 ครั้ง โดยดูวงรอบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ถ้าราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นวงรอบ (คือ ขึ้นและลง) ช้าก็ต้องปรับความห่างการซื้อแต่ละครั้งให้นานขึ้น  แต่ถ้าราคาหุ้นเคลื่อนไหวเป็นวงรอบ (คือ ขึ้นและลง) เร็วก็ต้องปรับความห่างการซื้อแต่ละครั้งให้ถี่เข้ามา แต่ถ้าราคาเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลง ให้หยุดซื้อก่อน  สรุปง่ายๆ คือ

  • ถ้าหุ้นเคลื่อนไหววงรอบเร็ว ซื้อถี่ขึ้น
  • ถ้าหุ้นเคลื่อนไหววงรอบช้า ซื้อห่างออกไป
  • หยุดซื้อถ้าหุ้นมีแนวโน้มเป็นขาลง 

ทั้งหมดนี้คือข้อแนะนำในระบบการซื้อ สำหรับผู้ที่เป็นนักลงทุนระยะกลาง (1-2 ปี) ขึ้นไปนะครับ ถ้านักซิ่งทั้งหลายมาทำตามอาจจะอึดอัดจนสลบก่อน หรือ ลืมไปเลยว่าจะต้องทำอะไรในเวลาใด  อิอิ

ทดลองทำ

ลองพยายามหาหุ้นของบริษัทที่น่าสนใจ คือเมื่อคำนวณมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นแล้วสูงกว่าราคาปัจจุบัน  แล้วพิจารณาว่าควรซื้อหรือไม่  โดยดูว่ามีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ มีแนวโน้มที่ไม่เป็นขาลงไหม และควรจะแบ่งซื้อกี่ครั้ง ครั้งละเท่าไรในระยะเวลาห่างกันเท่าไร และวางแผนไว้ว่าหยุดซื้อเมื่อลักษณะราคาเป็นอย่างไร

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565

การลงทุนกับการเมือง

สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะคิดว่าการเมืองนั้นไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับตัวเองสักเท่าไร แต่ในหมู่นักลงทุนแล้วเราทราบดีกว่าเกี่ยวข้องกันอย่างมาก ถ้ายังมีเพื่อนนักลงทุนคนไหนที่ยังคิดว่าไม่เกี่ยวกันล่ะก็ คงต้องบอกให้เริ่มเปลี่ยนความคิดได้ หรือถ้ายังไม่เชื่อก็ลองติดตามอ่านเรื่องนี้ดูก่อน หรือแม้แต่คิดว่าเกี่ยวข้องอยู่แล้วก็ลองติดตามดูว่ามีแง่มุมไหนบ้าง หรือจะนำอะไรไปปรับใช้กับการลงทุนของตัวเองให้ดีขึ้นได้ ก็อาจจะเป็นประโยชน์นะครับ

การลงทุนกับการเมือง

สิ่งแรกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การเมืองนั้นย่อมมี "ขั้ว" มีฝักมีฝ่ายอยู่ แต่ละขั้วอาจจะเอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่อยู่ในเครือพรรคพวกเดียวกันเป็นพิเศษก็ได้ ในขณะที่บางครั้งนอกจากไม่ส่งเสริมธุรกิจที่อยู่คนละขั้วการเมืองแล้วยังมีนโยบายให้ได้รับผลกระทบก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามนักธุรกิจที่ฉลาดมักจะสามารถทำตัวให้เข้ากับการเมืองได้ทุกฝ่าย เรียกว่าเอาตัวรอดไปได้เรื่อย ถ้าไม่เป็นการทำตัวแบบ "นกสองหัว" จนน่าเกลียดหรือขาดจริยธรรมเกินไป ก็อาจจะเป็นการปฏิบัติที่ยอมรับได้หรือดีกับธุรกิจก็ได้

อีกหนึ่งกรณีที่อาจจะเกี่ยวกับการเมืองด้วยคือนโยบายของกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจในการออกกฏหมาย (รวมเรียกว่า พรรคร่วมรัฐบาล) ของบางอย่างที่เคยผิดกฏหมายมาก่อนอาจจะกลายเป็นถูกกฏหมายในวันต่อมาได้เมื่อกฏหมายเปลี่ยนไป และในทางกลับกันก็เช่นกัน ของที่เคยถูกกฏหมายอาจจะกลายเป็นผิดกฏหมายในวันนี้ได้ เรื่องของกัญชาที่เริ่มถูกกฏหมายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี ทำให้หลายธุรกิจมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาออกจำหน่ายได้ (จุดนี้เราไม่พูดถึงข้อดีหรือเสียนะครับ เพราะอยู่นอกประเด็น) หรือการออกมาตรการฉุกเฉินต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่ผ่านมา เช่น การจำกัดการเดินทาง ปิดเที่ยวบิน โรงแรม โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ล้วนมีผลต่อการประกอบธุรกิจทั้งสิ้น แม้แต่ผลทางอ้อมในการจัดหาและฉีดวัคซีนของรัฐว่าเร็วหรือช้าอย่างไรก็มีผลเช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเมืองที่ดูแปลกจนคิดว่าไม่น่าจะมีได้เร็วๆ นี้ (16-17 มิถุนายน 2565) คือ ความพยายามที่รัฐบาลขอให้บรรดาโรงกลั่นน้ำมันในประเทศช่วยแบ่งผลกำไรส่งเข้ากองทุนน้ำมันเอาเสียดื้อๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีข้อกฏหมายรองรับ ไม่สามารถบังคับได้ (และการขอที่ว่านี้เหมือนการขอบริจาค แต่เป็นเงินจำนวนมหาศาล) เพราะการดำเนินกิจการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยมีข้อตกลงกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น การได้กำไรหรือขาดทุนของโรงกลั่นน้ำมันเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ บางครั้งอาจจะขาดทุน และเมื่อคราวได้กำไรก็ต้องนำมาหักกลบลบหนี้กับเมื่อคราวที่ขาดทุนเป็นเรื่องปกติ (และหากได้กำไรก็จะต้องเสียภาษีส่งรัฐอยู่แล้ว) ถึงคราวที่โรงกลั่นมีกำไรบ้างกลับถูกพยายาม "ไถเงิน" เข้ากองทุนนั่นนี่จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง (เมื่อคราวโรงกลั่นขาดทุนปีละหลายพันล้านบาทต่อโรงต่อปี ไม่เห็นใครไปช่วยเขาบ้าง) 

นโยบายที่มีผลทางอ้อม

นโยบายที่มีผลอีกเรื่องหนึ่งคือ การเงินและการคลัง พูดง่ายๆ คือ ดอกเบี้ย (นโยบายการเงิน) และภาษี (นโยบายการคลัง) นั่นเอง ภาษีที่สูงขึ้นย่อมทำให้แรงจูงใจในการทำธุรกิจลดลง (เราจึงต้องมี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ Board Of Investment - BOI) ที่พิจารณาส่งเสริมการลงทุนด้วยมาตรการให้ผลประโยชน์ต่างๆ กับผู้ลงทุน หนึ่งในนั้นคือมาตรการด้านภาษี เช่น ได้รับยกเว้นภาษีอะไร จำนวนเท่าใด ในระยะเวลาเท่าใด เป็นต้น การไม่เสียภาษีเป็นการทำให้ธุรกิจมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาสามารถนำไปลงทุนต่อหรือใช้หนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจได้ ทำให้กิจการเติบโตได้เร็วขึ้น นโยบายเกี่ยวกับภาษีที่ดิน อัตราภาษีในการโอนอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นสิ่งที่มีผลกับการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ค่าโอน จดจำนองที่สูงย่อมทำให้แรงจูงใจในการซื้อลดลง

นโยบายที่สำคัญอีกคือเรื่องการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่างๆ ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนของธุรกิจ (Cost of Capital) สูงขึ้น ความเสี่ยงสูงขึ้น แรงจูงใจในการทำธุรกิจต่ำลง ยิ่งกับบุคคลธรรมดาที่ไม่สามารถ "ส่งถ่าย" ภาระทางภาษีไปให้ผู้อื่นได้แต่ต้องแบกรับเอาไว้เองยิ่งได้รับผลกระทบมาก ซึ่งต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วบุคคลธรรมดาเล็กๆ เหล่านี้ก็คือลูกค้าของบริษัทขนาดใหญ่ ผลกระทบก็ตกลงไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ในที่สุดนั่นเอง

สรุป

จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการออกกฏหมายหรือนโยบายทั่วไปล้วนมีผลกระทบกับธุรกิจโดยรวมทั้งสิ้น แต่จะมากหรือน้อยแล้วแต่ประเภทของธุรกิจนั้น ถ้าเป็นไปได้นักลงทุนก็คงต้องการซื้อธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากกฎหมายและนโยบายของรัฐต่างๆในราคาที่ยังไม่แพง แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะยากที่มีธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐหรือกฎหมายต่างๆ ที่ว่าเลย สิ่งที่เราทำได้ก็คือเลือกธุรกิจที่ได้ประโยชน์ที่สุด มั่นคง มีความสามารถในการปรับตัวได้เร็วนั่นเอง

ทดลองทำ

สำรวจดูว่าบริษัทที่เราสนใจจะลงทุนหรือลงทุนไปแล้วมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากนโยบายของรัฐหรือกฎหมายต่างๆ เพียงใด อาจจะใช้วิธีหาข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้ หรือดูในแบบประเมินความเสี่ยงที่บริษัทจดทะเบียนจัดทำเสนอให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นประจำก็ได้ เพื่อเราจะได้คิดล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ กฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัทที่เราลงทุนเราจะตัดสินใจอย่างไร

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ความสมเหตุสมผลของงบการเงิน


งบการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญของทั้งเจ้าของธุรกิจเองและนักลงทุนในการรู้สถานะทางการเงินของกิจการ เราทราบกันอยู่แล้วว่าประกอบไปด้วย งบดุล (หรือเรียกว่างบแสดงสถานะทางการเงิน), งบกำไรขาดทุน, งบกระแสเงินสด, และ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนมองเห็นเข้าไปในการทำงานของบริษัทได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง 

บัญชีนั้นอาจจะตกแต่งได้

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า รายงานทุกอย่างมีข้อจำกัดของมัน มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ว่าถูกจัดทำและตรวจสอบได้มากหรือน้อยเพียงใด ข้อจำกัดเหล่านี้เช่น 

1. งบการเงินเป็นการจัดทำ ณ วันหนึ่งๆ เช่นสิ้นสุดไตรมาส หรือปี ดังนั้นไม่ได้แสดงสถานะสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างทางโดยตรง นั่นหมายถึงว่า ระหว่างทางอาจจะแย่ แต่ทำให้อะไรๆ ดีได้ตอนจะปิดงบฯ ก็ดูดีได้

2. การจัดทำงบการเงินนั้น หลายครั้งอาจจะมีการคาบเกี่ยวในการบันทึกรายการ เช่น การบันทึกเงินมัดจำเป็นรายได้, การซื้อกิจการอื่นที่มีค่า Goodwill สูงเกินความเป็นจริง, การตกแต่งบัญชีสินทรัพย์โดยการตีมูลค่าราคายุติธรรมของสินทรัพย์สูงเกินความเป็นจริง (จะบันทึกเป็นกำไรในงบกำไรขาดทุน, และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้สูงขึ้นเกินจริง โดยไม่ใช่กำไรจากการดำเนินกิจการ) 

3. การพยายามบันทึกข้อมูลทางบัญชีที่ทำให้งบการเงินดูดีเป็นครั้งคราว เช่น ปกปิดการขาดทุนโดยการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ผิดปกติ (คือน้อยเกินไป), การปกปิดสินทรัพย์ที่แท้จริงโดยบันทึกการด้อยค่าของทรัพย์สินต่างๆ ไม่ตรงตามความเป็นจริง, การปกปิดหนี้สินเช่นการบันทึกสัญญาทางการเงินเป็นสัญญาทางการดำเนินงาน, การเลื่อนการรับรู้รายได้เข้าหรือออกไป ซึ่งมีผลต่องบกำไรขาดทุนและต่อภาษีที่ต้องจ่ายด้วย หรือแม้แต่การบันทึกสิ่งที่ตัวเองเป็นนายหน้าในการซื้อขายเป็นรายได้ของตัวเอง (กรณี Enron) เป็นต้น 

ทั้งหมดด้านบนนั้นอาจจะเขียนไว้หรือไม่เขียนไว้อย่างชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงิน และก็ขึ้นกับผู้สอบบัญชีว่าจะสามารถสืบค้นที่มาได้มากหรือน้อยเพียงใดด้วย บางบริษัทอาจจะดูไม่ให้ความร่วมมือนักในการสอบบัญชี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้สอบบัญขีก็อาจจะมีข้อสังเกต เงื่อนไข ไปจนถึงไม่รับรองบัญชีนั้นได้

แล้วนักลงทุนต้องทำอย่างไร

สิ่งแรกที่ควรจะต้องพิจารณาคือ ใช้ สามัญสำนึก ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่นดูว่างบที่ออกมากับสิ่งที่เราเห็น หรือสัมผัสได้นั้น มันดูเข้าท่าหรือไม่ งบดีแต่เป็นบริษัทที่ไม่น่าจะขายของได้ หรือไม่น่าจะมีอัตรากำไรสูงมากได้ แบบนี้น่าแปลกใจ หรือขายได้เยอะ รับงานมากมาย แต่งบแย่ แบบนี้ก็น่าจะสงสัยสักหน่อยว่าทำไม สำหรับบริษัทที่กิจการไม่ซับซ้อนมากนัก เราก็อาจสังเกตได้ไม่ยาก แต่กับบริษัทขนาดใหญ่ มีบริษัทย่อยมากมาย มีสินค้าหลากหลาย ยิ่งมีการลงทุนในต่างประเทศด้วยก็จะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นจนถึงกับไม่สามารถมั่นใจจากการใช้สามัญสำนึกตามปกติได้ว่างบการเงินที่เห็นนั้นสะท้อนสถานะการดำเนินงานของกิจการหรือไม่ นั่นก็คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ต้องทำเครื่องหมายเอาไว้ในใจ 

หมายเหตุประกอบงบการเงิน

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Notes to Financial Statement) ซึ่งทั้งที่ชื่อของมันเป็นเพียง "หมายเหตุ" แต่กลับสำคัญมาก เพราะคือการบอกนโยบายหรือรายละเอียดของเกณฑ์การจัดทำบัญชีที่บริษัทใช้อยู่ แต่ละบริษัทก็อาจจะมีเกณฑ์ต่างกัน ทำให้ตัวเลขที่ออกมาต่างกันได้มาก ในหมายเหตุประกอบงบการเงินจะแสดงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ (มากน้อยก็ตามความโปร่งใสของแต่ละบริษัทด้วย ซึ่งเราก็พิจารณาได้เช่นกัน) เช่น
  • รายได้ รับรู้อย่างไร เมื่อใด
  • ลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้า มากขึ้น น้อยลง คงค้าง อย่างไร การมีทั้งคู่มากผิดปกติย่อมไม่ดี
  • รายละเอียดหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย เป็นอย่างไร มากหรือน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ อัตรากำไร 
  • นโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาเป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ในรอบใด 
  • รายละเอียดของสินค้าคงเหลือ ถ้าเหลือมากอาจจะหมายถึงขายยาก หรืออาจจะตกร่นเสื่อมค่าได้
  • มีการค้ำประกัน คดีความฟ้องร้องอยู่หรือไม่อย่างไร มีการประมาณหนี้สินจากค่าปรับหรือไม่ นี่คือความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะต้องเตรียมรับ ถ้าความเสี่ยงสูงได้กันเงินเอาไว้หรือไม่อย่างไร
  • รายละเอียดการลงทุน/ถือหุ้นในบริษัทอื่น เป็นการลงทุนที่ดีหรือไม่ ได้หุ้นนั้นมาในราคาสมเหตุสมผลหรือเปล่า 
  • รายละเอียดและวิธีการประเมินสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (เช่น Goodwill) ว่าแพงเกินไปหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงตีค่าใหม่ทำให้ต้องไปบันทึกในกำไรและทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาโดยไม่ได้มาจากการทำธุรกิจหรือไม่
  • ข้อมูลด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบกับกิจการ หลายกิจการมีการนำเข้าส่งออกด้วยเงินตราต่างประเทศ บางครั้งมีการได้หรือเสียผลประโยชน์นี้ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการดำเนินงานโดยตรง (ก็ เกี่ยวอ้อมๆ เรื่องการจัดการค่าเงินอยู่บ้าง) และอาจจะเกิดขึ้นครั้งเดียว ก็เป็นสิ่งที่เรานำไปพิจารณาต่อได้ 
  • อื่นๆ 
จะเห็นว่าทุกข้อนั้นสำคัญทั้งสิ้น (อาจจะมีอย่างอื่นมากกว่านี้อีก) ถ้าเราเห็นว่าบริษัทที่เราสนใจมีผลการดำเนินงานดีหรือไม่ดีผิดปกติเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเดียวกัน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามาดูหมายเหตุประกอบงบการเงินนี้ด้วย 

ทดลองทำ

ลองดูงบการเงินของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจสัก 3-4 บริษัท ว่ามียอดขาย อัตรากำไร กำไรสุทธิ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ต่างกันหรือไม่อย่างไร รวมทั้งเข้าไปดูหมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทเหล่านั้นด้วยเพื่อหาเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมผลการดำเนินงานจึงต่างกัน